เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2565 ที่โรงเรียนพญาไท กรุงเทพมหานคร น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธานแถลงข่าวการเตรียมความพร้อมเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 โดยมี ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัด ศธ. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และ นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย และผู้บริหารระดับสูงของ ศธ. เข้าร่วม ว่า ศธ.เตรียมความพร้อมเปิดภาคเรียนร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มาตลอด โดยจะจัดการเรียนการสอนในรูปแบบOnsiteเป็นหลัก ซึ่งจะมีการสร้างความมั่นใจให้แก่นักเรียน ครู ผู้ปกครอง โดยเฉพาะด้านความปลอดภัย ศธ.ได้เน้นย้ำให้สถานศึกษาทุกสังกัดเตรียมความพร้อมตามแนวทางการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด19 ด้วยหลักการ “ตัดความเสี่ยง สร้างภูมิคุ้มกัน” ซึ่งทุกสถานศึกษาต้องทำการประเมินตนเองในการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดเรียน นักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษาต้องประเมินความเสี่ยงตนเองเป็นประจำ สถานศึกษาต้องตรวจคัดกรอง เฝ้าระวังอย่างเหมาะสม ฉีดวัคซีนให้ครู บุคลากร ผู้ปกครอง และเด็กอายุ 5-18 ปี ตามเกณฑ์ โดยขณะนี้เด็กอายุ 12-18 ปี ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นมากกว่า 97% แล้ว ส่วนเด็กอายุระหว่าง 5 -11 ปี อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการฉีด
“ขอให้ผู้ปกครองเชื่อมั่นว่าแม้จะมีการเปิดภาคเรียนและมีการประเทศแล้ว สถานศึกษาต้องปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัย 6-6-7 ป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด19 อย่างเคร่งครัด มีการเว้นระยะห่างเตรียมพร้อมแผนเผชิญเหตุรองรับเมื่อพบผู้ติดเชื้อในสถานศึกษาจะทำอย่างไร รวมถึงการเตรียมพร้อม School Isolation ด้วย ซึ่งขณะนี้สถานศึกษาได้ในสังกัด ศธ. กว่า 35,000 แห่ง พร้อมแล้วที่จะเปิดกาคเรียนปีการศึกษา 2565 โดยจะเปิดเรียน Onsite ได้ 100%” รมว.ศธ.กล่าว
ดร.สุภัทร กล่าวว่า วันนี้สถานศึกษามีการเตรียมความพร้อมทุกด้าน เพื่อการเปิดภาคเรียนอย่างปลอดภัยทั้ง 100% แล้ว ทั้งด้านอาคารสถานที่ การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 สำหรับครูและนักเรียน และล่าสุด รมว.ศธ.ได้มอบหมายให้ตนออกประกาศหลักเกณฑ์การเปิดโรงเรียนหรือสถานศึกษาตามข้อกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 37)
ด้าน นพ.โอภาส กล่าวว่า ภาพรวมการติดเชื้อโควิด 19 มีแนวโน้มลดลงในเดือนพฤษภาคมถือเป็นจุดหมายสำคัญที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องผลักดันให้สถานศึกษาเปิดเรียนรูปแบบ Onsiteให้ได้ และต้องเปิดสถานศึกษาก่อนผับ บาร์ คาราโอเกะด้วย เพราะถ้าไม่สามารถเปิดเรียนแบบOnsiteได้คงจะประกาศให้โควิด19 เป็นโรคประจำถิ่นไม่ได้ ทั้งนี้ สธ. วางมาตรการเปิดภาคเรียนไว้ 3 ระดับ คือ 1.การฉีดวัคซีนให้ครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียนทุกคน โดย สธ.ร่วมกับ ศธ.เตรียมวัคซีนพร้อมทุกสูตรสำหรับให้บริการในทุกพื้นที่ ดังนี้ การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ในกลุ่มอายุ 12-18 ปี ให้ฉีดผ่านระบบสถานศึกษา โดยฉีดไฟเซอร์เข็มกระตุ้นขนาดครึ่งโดส ส่วนการฉีดผ่านสถานพยาบาล ให้ฉีดไฟเซอร์เข็มกระตุ้นขนาดเต็มโดส หรือครึ่งโดส ส่วนการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 และ 2 ในกลุ่มอายุ 5-11 ปี มีสูตรให้ผู้ปกครองเลือกดังนี้ สูตรไฟเซอร์ 2 เข็ม ระยะห่างในการฉีด 8 สัปดาห์ สูตรไขว้ คือ ซิโนแวค-ไฟเซอร์ (ระยะห่างการฉีด 4 สัปดาห์) ซึ่งผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่าเด็กที่ฉีดวัคซีนสูตรไขว้ ซิโนแวค-ไฟเซอร์ มีภูมิต้านทานสูง ไม่ต่างจากการฉีดวัคซีนในกลุ่มฉีดไฟเซอร์ 2 เข็ม ซึ่งขณะนี้ทราบว่ามีผู้ปกครองประสงค์ที่จะให้บุตรฉีดวัคซีนสูตรไขว้ประมาณ 200,000 รายแล้ว
“2.การคัดกรอง ที่สำคัญคือต้องคัดกรองนักเรียนตามอาการ ถ้านักเรียนที่มีอาการเกี่ยวกับทางเดินหายใจ ควรจะให้นักเรียนเหล่านี้อยู่บ้าน ยกเว้นมีกิจกรรมที่สำคัญ เช่น สอบคัดเลือก สอบเลือกระดับ เป็นต้น การตรวจ ATK ไม่มีความจำเป็นแล้ว ยกเว้นจะตรวจนักเรียนที่มีความเสี่ยงเพื่อคัดกรองเบื้องต้น และ 3.เมื่อพบบุคลากรและนักเรียนติดโควิด-19 สธ.มีนโยบาย 3 พอ คือ หมอพอ เตียงพอ ยาและเวชภัณฑ์พอ จึงขอเน้นย้ำว่าสถานศึกษามีความพร้อมที่เปิดภาคเรียนในทุกระดับ” นพ.โอภาส กล่าว
นพ.สราวุฒิ กล่าวว่า มาตรการเตรียมพร้อมก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1/2565 คือ ให้สถานศึกษาประเมินตนเองผ่าน TSC+ นักเรียนอายุ 12-17 ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น และเร่งฉีดวัคซีนโควิดในเด็กอายุ 5-11 ปี ตามความสมัครใจของผู้ปกครองและเด็ก นักเรียน ครู บุคลากร ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันอย่างเคร่งครัด สวมหน้ากาก ล้างมือ ตรวจหาเชื้อด้วย ATK หรือมีอาการเสี่ยง กรณีครูและนักเรียนที่มีความเสี่ยงสูง ถ้าไม่ได้รับวัคซีนโควิด ตามแนวทางปัจจุบัน ทั้งมีอาการ และไม่มีอาการ แนะนำให้กักตัวเป็นเวลา 5 วัน และติดตามเฝ้าระวัง 5 วัน กรณีที่ได้รับวัคซีนครบตามคำแนะนำปัจจุบัน แต่ไม่มีอาการ ไม่แนะนำให้กักกันตัว พิจารณาให้มาเรียนได้ โดยตรวจคัดกรองหาเชื้อด้วย ATK แต่ถ้ามีอาการ ให้ตรวจทันทีหลังสัมผัสผู้ติดเชื้อ พร้อมกับตรวจในวันที่ 5 หลังสัมผัสผู้ติดเชื้อและตรวจครั้งสุดท้ายในวันที่ 10 หลังสัมผัสผู้ติดเชื้อ ให้สถานศึกษาจัดการเรียนการสอนอย่างเหมาะสม เว้นระยะห่างไม่น้อยกว่า 2 เมตร พร้อมกับประสานหน่วยบริการสาธารณสุขตามระบบงานอนามัยของโรงเรียน และกรณีที่นักเรียน และครู เป็นผู้ติดเชื้อ ให้แยกกักตัวที่บ้าน หรือให้คณะกรรมการสถานศึกกษา หน่วยงานสาธารณสุขและคณะกรรมการโรคติดต่อประจำจังหวัด พิจารณาจัดทำ School Isolation ในสถานศึกษา ส่วนกลุ่มคนที่ติดเชื้อแต่ไม่มีอาการ อาจจะจัดรูปแบบการเรียนการสอนให้อย่างเหมาะสม ทั้งนี้ต้องทำความสะอาดห้องเรียน ชั้นเรียน สถานศึกษาด้วย
ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้เตรียมความพร้อมเปิดภาคเรียน 3 ด้าน เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้ปกครอง คือ 1. สถานศึกษาต้องมีความปลอดภัยในทุกมิติ 2.ปีการศึกษา 2565 เป็นปีแห่งการซ่อมสร้างและลดภาระผู้ปกครองในทุกมิติ ดังนั้นจะต้องไม่เพิ่มภาระกับผู้ปกครอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแต่งกาย อุปกรณ์การเรียนการสอน และต้องช่วยลดภาระกับผู้ปกครอง หากพบสถานศึกษาใดเพิ่มภาระให้ผู้ปกครอง ให้ประชาชนแจ้งเรื่องมาที่ สพฐ.โดยตรงเพื่อจะเร่งตรวจสอบและดำเนินการต่อไป และ 3.การฉีดวัคซีน ขอให้ผู้ปกครองเร่งฉีดวัคซีนเพื่อสร้างความปลอดภัยให้นักเรียนอีกทางด้วย
“ส่วนการแก้ปัญหาภาวะการเรียนรู้ถดถอย ผมเน้นย้ำสถานศึกษาในสังกัดไปว่าเมื่อเปิดภาคเรียน ต้องตรวจสุขภาพอนามัย และดูแลสภาพจิตใจนักเรียนก่อน จากนั้นจะนำเครื่องมือไปประเมินเด็ก ว่าเด็กขาดความรู้ด้านในบ้าง เช่น ในระดับชั้น ป.1-3 จะเน้นเสริมสร้างให้เด็กอ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น เพราะถือเป็นเรื่องพื้นฐานให้เด็กสามารถต่อยอดเรียนรู้เรื่องต่างๆได้ แต่ถ้าประเมินแล้วพบว่าเด็กมีความสามารถด้านอื่น จะต่อยอดและเติมความรู้ด้านที่เด็กถนัดด้วย ดังนั้นในปีการศึกษา 2565 จะเป็นปีที่ทำแผนการเรียนส่งเสริมนักเรียนเป็นรายบุคคล” นายอัมพร กล่าว
ด้าน ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) วางแผนแก้ไขปัญหาลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ดังนั้น 1. เติมทักษะที่ขาดหายให้กับนักศึกษาที่เรียนในปัจจุบัน โดยให้ครูผู้สอนแบ่งกลุ่มให้นักศึกษาเข้ามาเรียนเพิ่มเติมในวันเสาร์และอาทิตย์ 2.ส่วนนักศึกษาที่กำลังจะสำเร็จการศึกษาและจะไปเรียนต่อในระดับชั้นอื่น ที่อาจจะมีความรู้ขาดหายบางส่วน ให้ใช้ระยะเวลาก่อนเปิดภาคเรียน และวันเสาร์-อาทิตย์ จัดสอนเสริมเพิ่มทักษะที่จำเป็นตามความเหมาะสม และ 3.เสริมทักษะให้นักศึกษาใหม่ โดยใช้วันเสาร์-อาทิตย์ ก่อนเปิดภาคเรียนให้นักเรียนมาเรียนเสริมพื้นฐาน เตรียมพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน