เมื่อวันที่ 9 พ.ค.2565 ว่าที่ ร.ต. ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ พลเรือเอก พงศ์เทพ หนูเทพ องคมนตรี ได้มาเป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ “ผู้บริหารยุคใหม่ หัวใจนำทาง” โดยมีผู้บริหารโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 38 แห่งเข้าร่วม โดยพลเรือเอก พงศ์เทพ เน้นย้ำว่าผู้บริหารโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ต้องซื่อสัตย์ รับผิดชอบต่อหน้าที่ มีภาวะผู้นำ รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เนื่องจากโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ คือโรงเรียนของพระราชา ดังนั้นผู้บริหารโรงเรียนต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้โรงเรียนอื่นๆ พร้อมเน้นย้ำให้โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ดูแลเด็กที่มีภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ หรือ แอลดีด้วย เพราะปัจจุบันเด็กมีแนวโน้มที่จะเป็นแอลดีมีจำนวนมากขึ้น ดังนั้นโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ที่มีหน้าที่ดูแลเด็กด้อยโอกาส จะต้องดูแลเด็กทุกคนให้มีพัฒนาการครบทุกมิติ
รองเลขาธิการกพฐ.กล่าวต่อไปว่า การแก้ไขปัญหาเด็กที่มีภาวะเสี่ยงเป็นแอลดี เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. และตนได้ประชุมผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และผู้อำนวยการโรงเรียนทั่วประเทศ เพื่อหารือแก้ไขและวางแนวทางช่วยเหลือเด็กที่เสี่ยงเป็นแอลดี จากการสำรวจคัดกรองเบื้องต้น สพฐ.มีนักเรียนในสังกัด ประมาณ 6.5 ล้านคน พบนักเรียนเสี่ยงเป็นแอลดี ประมาณ 3.6 แสนคน และถ้าไม่เร่งช่วยเหลือ ในอนาคตเด็กเหล่านี้จะมีปัญหาด้านการเรียนรู้ เพราะการอ่านถือเป็นวิชาพื้นฐานในการเรียนวิชาอื่นๆ เมื่อเด็กอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ก็จะมีผลต่อคุณภาพการศึกษาของประเทศ
“ขณะนี้ สพฐ. ได้ตั้งคณะกรรมการจัดการเรียนรวม ระดับ สพฐ. เพื่อวางแผนแก้ไขปัญหาเด็กแอลดีให้มากที่สุด และจะตั้งคณะกรรมการจัดการเรียนรวม ระดับเขตพื้นที่ฯ โดยให้ผู้อำนวยการ สพท.เป็นประธาน ศึกษานิเทศก์ ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาพิเศษ ร่วมเป็นกรรมการด้วย เพื่อบูรณาการงานระดับพื้นที่ให้ทุกหน่วยงานทำงานแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว โดยผมได้ขอให้ผู้อำนวยการโรงเรียน ทำการสำรวจคัดกรองนักเรียนทุกคนอย่างเข้มข้น ว่านักเรียนเป็นแอลดีกี่คน เมื่อคัดกรองเสร็จแล้วต้องจัดทำแผนช่วยเหลือเด็กเหล่านี้เป็นรายบุคคล ปัญหานี้ต้องแก้ไขโดยเร็ว ขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องถือว่าเรื่องนี้ เป็นเรื่องเร่งด่วน ต้องเร่งช่วยเหลือให้เด็กอ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น ก่อนที่เด็กจะเรียนจบชั้นปะถมปีที่ 3”รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าวและว่า ทั้งนี้ได้เน้นย้ำกับโรงเรียนว่า จะต้องไม่ระบุว่าเด็กคนไหนเป็นแอลดี เพราะจะสร้างปมให้เด็ก เพราะแม้เด็กจะอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ แต่เด็กอาจจะเก่งด้านอื่นๆ ดังนั้นครูต้องสอนเสริมเติมความรู้ในส่วนที่ขาด พร้อมกับค้นหาความสามารถเฉพาะทางของเด็กและทำการสนับสนุนต่อยอดเด็กควบคู่กันไปด้วย ส่วนวิธีการแก้ไขช่วยเหลือเด็กแอลดี ในเบื้องต้น คือ พัฒนาและให้ความรู้กับครูที่ดูแลเด็กแอลดี ว่าเมื่อพบเด็กบกพร่องด้านการอ่าน ต้องใช้สื่อ เครื่องมือ เทคนิคอะไรที่เข้ามาแก้ไข เช่น ให้เด็กฝึกเขียน ฝึกอ่านคำ และเมื่อหากพบเด็กที่มีปัญหาด้านการเขียน ให้ครูฝึกให้เด็กได้เขียนบ่อยๆ เป็นต้น