ที่จังหวัดเชียงราย ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมช.ศึกษาธิการ)พร้อมด้วย ดร.กมล รอดคล้าย ที่ปรึกษารมช.ศึกษาธิการ ดร.พะโยมชิณวงศ์ รองประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ… คนที่ 6 นายวัลลพ สงวนนาม เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(กศน.)ได้ลงพื้นที่พร้อมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ…ศึกษาดูงาน ในพื้นที่กลุ่มสำนักงาน กศน.จังหวัด กลุ่มอิงดอย ได้แก่ สำนักงาน กศน.จังหวัดเชียงราย พะเยา แพร่ น่าน ระหว่างวันที่ 30 เมษายน ถึงวันที่ 2 พฤษภาคม 2565
นายวัลลพ กล่าวรายงานว่า การดำเนินงานที่ผ่านมาของกลุ่มสำนักงาน กศน.จังหวัดกลุ่มอิงดอยได้ขับเคลื่อนงานการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยที่มีคุณภาพตามนโยบายการจัดการศึกษาของรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการในการยกระดับคุณภาพการศึกษา การสร้างโอกาสความเสมอภาคและความเท่าเทียมกันทางการศึกษาทุกช่วงวัย การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะด้านการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำเพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับกลุ่มเป้าหมายทุกช่วงวัยทั้งคนพิการและผู้ด้อยโอกาส มีการดำเนินงานกศน.ปักหมุด เพื่อรวบรวมข้อมูลกลุ่มเป้าหมายคนพิการและนำเข้าสู่ระบบการศึกษามีการวางแผนจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับบริบทและความต้องการของคนพิการอย่างแท้จริงเชื่อมโยงกับร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ… ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี ที่จะเป็นเครื่องมือสำคัญ ที่จะช่วยให้เกิดความคล่องตัว รองรับความหลากหลายของการจัดการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย
ดร.กนกวรรณ ฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ… กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ เป็นการลงพื้นที่ภาคเหนือ หลังจากคณะกรรมาธิการฯได้ลงรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่ภาคใต้มาแล้ว ซึ่งจะเป็นการรับฟังข้อเสนอแนะ ข้อคิดเห็น เกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ ถือเป็นสิ่งสำคัญเพื่อนำไปประกอบการพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯ รวมถึงรวบรวมประเด็นปัญหาและอุปสรรคที่เกิดจากการทำงานส่งเสริมการเรียนรู้ของกศน. เพื่อให้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ เกิดประโยชน์สูงสุดในการดูแลประชาชน และในครั้งต่อไปคณะกรรมาธิการฯจะลงพื้นที่จังหวัดสงขลา และจังหวัดสกลนคร
สำหรับสาระสำคัญจากการแบ่งสายศึกษาดูงานรูปแบบการจัดการศึกษาของ กศน.ในพื้นที่ และรับฟังความเห็นของคณะกรรมาธิการ ฯ จำนวน 5 สาย สรุปได้ว่า เครือข่ายและประชาชนในพื้นที่ให้การสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ อยากให้กฎหมายเปิดช่องให้ กศน.จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานไปถึงระดับที่สูงกว่าการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือถึงระดับปริญญาตรี ดูแลเรื่องของทักษะวิชาชีพด้วย ไม่ใช่แค่สอนแต่วิชาการ อยากให้ส่วนราชการอื่นและเครือข่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษามากขึ้นหรือทำรูปแบบทวิภาคี โดยให้มีการระบุในร่างพ.ร.บ.ฯให้ชัดเจน เพราะเป็นการจัดการศึกษาสำหรับประชาชนทุกช่วงวัย ทุกระดับในทุกพื้นที่ต้องการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างหลากหลาย เป็นการตัดเสื้อที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคลไม่ใช่เหมารวม และเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นอกจากนี้ต้องการให้ยกระดับสำนักงาน กศน.ให้มีฐานะเป็นกรมที่ไม่ได้อยู่ภายใต้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ มีบทบาทสำคัญ 2 เรื่อง คือ การส่งเสริมและการจัดการเรียนรู้ ทั้งนี้ จากการรับฟังความเห็นทุกฝ่ายต้องการให้ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านเป็นกฎหมายโดยเร็ว
ตัวแทนผู้ต้องขังหญิงซึ่งอยู่ในเรือนจำกลางจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ผู้ต้องขังทุกคนมีความสมัครใจที่จะเข้ามาเรียนกับกศน.โดยไม่มีการบังคับให้มาเรียน ทั้งนี้พวกเราเรียนทั้งอยากได้วุฒิการศึกษาและนำไปประกอบอาชีพ ซึ่ง กศน.สอนทั้งการศึกษาขั้นพื้นฐานและสอนหลักสูตรระยะสั้นซึ่งเป็นการฝึกอาชีพที่สามารถนำไปใช้เมื่อพวกเราพ้นโทษสำหรับความต้องการของผู้ต้องขังตอนนี้คือ อยากให้กศน.สอนหลักสูตรระยะสั้นเพิ่มในส่วนของการฝึกอบรมเกี่ยวกับเรื่องการใช้เทคโนโลยีต่างๆ การฝึกอบรมความรู้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ต่างๆ ที่จำเป็น เช่น โปรแกรม excel เพื่อให้พวกเราสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันหลังจากพ้นโทษและอบรมในการขายของออนไลน์ที่เราสามารถไปพัฒนาศักยภาพในการประกอบอาชีพข้างนอกได้
ส่วนการจัดการศึกษาในค่ายทหาร เนื่องจากภารกิจของทหารต้องรับใช้ชาติ บางครั้งต้องออกชายแดนในช่วงที่มีการจัดสอบ ดังนั้นทางค่ายทหารจึงต้องการให้กศน.จัดสื่อวีดิทัศน์ เข้ามาช่วยสอนเพื่อให้ทหารจบตามหลักสูตร