เมื่อวันที่ 29 เมษายน ดร.ตวง อันทะไชย ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ… เปิดเผยว่า ในการประชุมกมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้หารือ การปรับแก้กฎหมายต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ ซึ่งที่ประชุมได้มีข้อเสนอให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) จำนวน 5 ฉบับ ซึ่งรวมถึงคำสั่งที่ 19/2560 ด้วย นั้น ยังไม่ใช่ข้อยุติ เป็นเพียงข้อเสนอซึ่งมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยฝ่ายที่เสนอเห็นว่า เมื่อมีการร่างกฎหมาย และจะต้องมีการยกเลิกพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับเดิม ก็ควรต้องยกเลิกคำสั่งคสช.ที่เกี่ยวข้องด้วย ทั้งนี้หากยกเลิกแล้วก็สามารถยกร่างใหม่ตามมาตรา 106 ที่ให้อำนาจปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จัดทำกฎหมายให้สอดคล้องกับพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ ทั้งนี้หากยกเลิกคำสั่งคสช. ก็ไม่จำเป็นต้องยุบตำแหน่งสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด และสำนักงานศึกษาธิการภาค เพราะปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ สามารถไปกำหนดตำแหน่ง ไว้ในกฎหมายลูกฉบับใหม่ได้
“เรื่องนี้ยังอยู่ในกระบวนการพิจารณา ยังไม่ใช่ข้อยุติ แต่ผู้ที่เสนอยกเลิกก็มีเหตุผล ขณะเดียวกันก็มีฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย เพราะเห็นว่าตำแหน่งศธจ. และศธภ. ยังต้องอยู่เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนงานการศึกษาในส่วนภูมิภาค ส่วนความคืบหน้า การพิจารณาร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ..นั้น มีความคืบหน้าไปมาก และมีการลงมติไป 6-7 มาตราแล้ว คาดว่า จะสามารถเสนอให้ สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาวาระ 2 และ 3 ได้ภายในเดือนมิถุนายน หรือกรกฎาคม ถ้าไม่มีอุบัติเหตุทางการเมืองเกิดขึ้นก่อน ก็เชื่อว่าจะสามารถประกาศใช้ได้ทัน แต่ถ้ามีการยุบสภาฯ รัฐบาลหน้าก็ต้องมาเริ่มต้นใหม่ แต่ก็ยังมีพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ใช้อยู่ เพราะยังไม่มีการยกเลิกกฎหมายเดิม” ดร.ตวง กล่าว