เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2565 ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยการเตรียมความพร้อมเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 ของสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ณ วันนี้ยืนยันว่าจะไม่มีการเลื่อนเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2565 ดังนั้น ทุกโรงเรียนต้องเปิดพร้อมกันในวันที่ 17 พฤษภาคม 2565 โดยมีเป้าหมายคือ ทุกคนในโรงเรียนทั้งเด็ก ครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องปลอดภัย โดยสพฐ.ได้ออกแบบให้โรงเรียนมีความปลอดภัยในทุกมิติ ทั้งในเรื่องของอาคารสถานที่ การเดินทาง และความปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อว่า ในส่วนการเตรียมการด้านความปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะมุ่งไปที่การฉีดวัคซีนป้องกันซึ่งมีความสำคัญอย่างมาก โดยจะรณรงค์ให้นักเรียนอายุ 5-11 ปี มาฉีดวัคซีนให้มากขึ้น เพราะจากข้อมูล พบว่านักเรียนกลุ่มนี้ยังมีการฉีดวัคซีนน้อยอยู่ โดยจะขอความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ผู้นำชุมชน ผู้นำหมู่บ้าน รณรงค์ให้ความรู้ถึงประโยชน์การฉีดวัคซีน ว่าเป็นการฉีดเพื่อป้องกันเชื้อ ซึ่งจะทำให้ประชาชนสบายใจมากขึ้น ขณะเดียวกัน จะรณรงค์ให้ครูรับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น หรือเข็มที่ 3 เพิ่มขึ้น รวมถึงนักเรียนอายุ 12-18 ปี ที่จะต้องเชิญชวนมาฉีดวัคซีนเข็ม 2 และเข็ม 3 เพิ่มขึ้นด้วย
ดร.อัมพร กล่าวต่อว่า เป้าหมายการเปิดภาคเรียนในปีการศึกษา 2565 คือ ให้โรงเรียนเน้นจัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไซต์เป็นหลัก โดยโรงเรียนต้องประเมินตนเอง และเสนอไปยังคณะกรรมการควบคุมโรคของแต่ละจังหวัดเพื่อขออนุญาตเปิด อย่างไรก็ตามศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้วางแผนไว้ว่าจะผลักดันให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นในเดือนกรกฏาคมนี้ เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะเปิดเรียนออนไซต์ทั้งหมดจึงมีค่อนข้างสูง แต่โรงเรียนต้องปฏิบัติตามมาตรการ 6-6-7 ของสธ. ด้วย ส่วนที่ผู้ปกครองเป็นกังวลว่าเด็กไม่ฉีดวัคซีนจะเข้ามาเรียนในโรงเรียนได้หรือไม่ เรื่องนี้ยืนยันว่าเด็กทุกคนไม่ว่าจะฉีดหรือไม่ฉีดวัคซีนก็มีสิทธิ์มาเรียนที่โรงเรียน แต่ถ้าผู้ปกครองยังไม่เชื่อมั่นจะเรียนอยู่ที่บ้านก่อนก็ได้ ซึ่งโรงเรียนต้องจัดการเรียนสอนรูปแบบอื่นให้นักเรียนแทน แม้แต่การตรวจ ATK ก็ไม่มีการบังคับให้นักเรียนตรวจ โดยจะตรวจเฉพาะกรณีที่พบนักเรียนมีไข้ มีอุณหภูมิสูง และมีความเสี่ยงเท่านั้น รวมถึงหากพบว่ามีนักเรียนติดเชื้อโควิด-19 ก็จะไม่มีการปิดทั้งโรงเรียน แต่จะใช้มาตรการตามแผนเผชิญเหตุที่ สพฐ.จัดเตรียมไว้ให้
“สำหรับการจัดการเรียนการสอนในปีการศึกษา 2565 นั้น น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีนโยบายให้ปีนี้ เป็นปีของการซ่อมสร้าง เนื่องจากผลกระทบการแพร่บาดของโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้นักเรียน เรียนรู้ไม่เต็มศักยภาพเกิดภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ จึงให้นโยบายกับสถานศึกษาจัดการเรียนการสอนเสริมเพิ่มเติมให้กับนักเรียน ซึ่งสอดคล้องกับยูเนสโกที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้” เลขาธิการ กพฐ.กล่าว
///