เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2565 ที่หอประชุมคุรสภา กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้มีการจัดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “ครูไทย การศึกษาไทย กับการปฏิรูปประเทศ” จัดโดยสมัชชาเครือข่ายครูและบุคลากรทางการศึกษาแห่งประเทศไทย (สคคท.) โดย น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีเปิด และมีผู้บริหารระดับสูงของ ศธ.  นายดิเรก พรสีมา  ประธาน สคคท. พร้อมผู้นำองค์กรเครือข่ายกว่า 30 องค์กร เข้าร่วม โดย น.ส.ตรีนุช กล่าวว่า ตนเชื่อว่าการศึกษาเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องสำคัญของประเทศ เพราะการศึกษาเป็นรากฐานในการสร้างชาติและการพัฒนาประเทศ ซึ่งการพัฒนาการศึกษาไม่ใช่หน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของทุกคน ปัจจุบันโลกและบริบทของสังคมก็เปลี่ยนแปลงไป เช่น การเปลี่ยนแปลงของดิจิทัล การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ดังนั้นการขับเคลื่อนการศึกษาจึงมีความท้าทาย ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้ทำให้เราต้องผลักดันและปรับตัวให้อยู่กับสถานการณ์การเรียนรู้ที่มีข้อจำกัดต่างๆ อย่างไร

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ตนจะนำข้อเสนอขององค์กรครู ไปดูว่าจะสามารถปรับเปลี่ยนกฎระเบียบอะไรได้บ้าง เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้เป็นประโยชน์ต่อครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งที่ผ่านมา ศธ.ได้ดำเนินการผลักดันมาแล้วบ้าง เช่นการ แก้ไขปัญหาหนี้สินครู การผลักดันร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … โดยขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ  และจากที่ตนหารือกับนายตวง อันทะไชย ประธาน กมธ. วิสามัญฯ ก็เห็นตรงกันว่าจะต้องเร่งผลักดันให้เสร็จและเสนอในทันสมัยประชุมสภาในเดือนพฤษภาคมต่อไป โดยจะปรับ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ให้มีความยืดหยุ่นและเหมาะสมกับสภาพการศึกษาในปัจจุบัน

“ส่วนคุณภาพการศึกษา เมื่อโลกเปลี่ยน ครูและบุคลากรทางการศึกษาทั้งรัฐและเอกชน ที่มีอยู่กว่า 600,000  คน ต้องปรับตัว ซึ่งศธ.ให้ความสำคัญพยายามที่จะพัฒนาครูเช่น การสอนแบบ Active Learning เพื่อพัฒนาเด็กให้มีความรู้เท่าทันศตวรรษที่ 21  เป็นต้น รวมทั้งการสร้างโรงเรียนคุณภาพที่จะเป็นโรงเรียนแม่เหล็กให้โรงเรียนต่างๆมาเรียนร่วมกัน นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาว่าจะทำอย่างไรที่จะตามเด็กที่หลุดจากระบบเข้ามาสู่ระบบการศึกษาทันเปิดภาคเรียนในปีการศึกษา 2565 ซึ่งศธ.อยู่ระหว่างดำเนินการบูรณาการทุกภาคส่วนพาน้องกลับเข้าเรียนให้ได้มากที่สุด”น.ส.ตรีนุช กล่าวและว่า ปัญหาสำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือ การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา เพราะขวัญกำลังใจของครูและบุคลากรทางการศึกษามีความสำคัญอย่างมาก ถ้าครูยังมีความทุกข์ใจ กังวลใจเรื่องภาระหนี้สินอยู่อาจจะมีความยากลำบากให้การสอน ศธ.จึงมุ่งเน้นแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างเต็มที่ เช่น ร่วมมือกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูลดดอกเบี้ยให้ครู พร้อมกับจัดตั้งสถานีแก้หนี้ครูระดับจังหวัด และระดับเขตพื้นที่การศึกษา เป็นต้น

ด้านนายดิเรก  กล่าวว่า สคคท.และเครือข่ายองค์กรครู ยื่นข้อเสนอให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.​เร่งผลักดัน 3 เรื่อง คือ 1.เร่งผลักดันร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ให้เสร็จโดยเร็ว โดยขอให้แก้ไขกฎหมายให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคล มีอำนาจในการบริหารงานบุคคล บริหารงบประมาณ และบริหารงานวิชาการของตน 2.เร่งพัฒนาครูทั้งรัฐและเอกชน กว่า 600,000 คน ให้จัดการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ และ3. ดูแลขวัญกำลังใจให้ผู้อำนวยการ ครู และบุคลากรทางการศึกษา โดยเร่งแก้ไขปัญหาหนี้สิน เพื่อให้ครูและบุคลากรทางการศึกษามีแรงทุ่มเทจัดการเรียนการสอนให้กับนักเรียน

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments