*** หยอก หยอก วันที่ 20 เมษายน 2565 *** กลายเป็นประเด็นร้อนกลับมาอีกครั้ง เมื่อบอร์ด กพฐ. คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีมติขอปรับเวลาในการประกาศใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ….” หรือที่เรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า “หลักสูตรแกนกลางฐานสมรรถนะ” จากเดือนตุลาคม 2566 เป็น ตุลาคม 2565 ที่สำคัญได้มีการเห็นชอบแผนการทดลองใช้ (ร่าง)หลักสูตรฯ โดย ปีการศึกษา 2565 ทดลองใช้ในโรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ปีการศึกษา 2566 ทดลองใช้ในโรงเรียนทั่วไปที่พร้อมใช้ และ ปีการศึกษา 2567 โรงเรียนทั่วประเทศใช้หลักสูตร ชั้น ประถมศึกษาปีที่ 1 และ ประถมศึกษาปีที่ 4 *** อย่างไรก็ตาม ตามธรรมเนียมปฏิบัติในการเปลี่ยนหลักสูตร เมื่อออกแบบหลักสูตรแล้วต้องมีการนำร่อง เพื่อดูข้อดี ข้อเสีย และนำมาปรับปรุงพัฒนาก่อนขยายผลใช้ไปทั่วประเทศ … คำถามตอนนี้ คือ ได้มีการนำร่องเสร็จหรือยัง *** และก่อนหน้านี้กระทรวงศึกษาธิการนำโดย “ครูเหน่ง” ตรีนุช เทียนทอง พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงศึกษาธิการ ได้นำร่างกรอบหลักสูตรฐานสมรรถนะไปเสนอต่อ ศ.กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่ง ดร.วิษณุ ให้ความเห็นว่าเรื่องนี้ยังเป็นเรื่องใหม่ ให้ทดลองใช้ในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาไปก่อน ขณะที่เสียงส่วนใหญ่ในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาก็ให้ใช้หลักสูตรเดิม คือ หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 และมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดฯ (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560) ไปก่อนแต่เปลี่ยนวิธีการสอนเป็นแบบActive Learning … ซึ่งทุกคนก็รับปาก แม้แต่ในการประชุมบอร์ด กพฐ.เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ก็ยังเป็นไปตามที่ตกลงกับรองนายกฯ … แต่อยู่ ๆ ก็ถือโอกาสที่ “ครูเหน่ง” กับ “สุภัทร จำปาทอง” ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เดินทางไปราชการต่างประเทศ ให้มีมติเร่งรัดให้ดำเนินการประกาศใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะซะงั้น … แว่วมาว่า วันพุธที่ 27 เมษายน ที่จะถึงนี้ ดร.วิษณุ จะเชิญผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการเข้าพบ แล้วจะตอบคำถามว่ายังไง … รอฟัง *** งานนี้ก็ต้องหันมาถาม รศ.ดร.ศิริเดช สุชีวะ ประธานดำเนินการสรุปหลักสูตรแกนกลางฐานสมรรถนะ สักหน่อยว่า ตอนเป็นกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เป็นผู้ออกแบบกิจกรรมปฏิรูปที่ 2 การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 โดยมีเป้าหมายให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ มีส่วนร่วมและลงมือปฏิบัติ ผู้เรียนได้รับการพัฒนาไปสู่ศักยภาพสูงสุดของแต่ละบุคคล เป็นผู้มีความรู้ มีทักษะใฝ่เรียนรู้ (Learning Skill) สามารถเชื่อมโยงนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง มีทักษะ (Life Skill) ในโลกยุคใหม่ รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคม เป็นพลเมืองตื่นรู้ (Active Citizen) มีความรับผิดชอบ มีจิตสาธารณะ มีความรักและความภาคภูมิใจในความเป็นไทย โดยปรับเปลี่ยนการสอนตามหลักสูตรอิงมาตรฐาน (Standard – based Curriculum) ในปัจจุบัน ไปสู่การเรียนรู้ที่พัฒนาสมรรถนะผู้เรียน (Competency – based Learning ) เป็นสำคัญ ทั้งนี้ การจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาสมรรถนะแบบผู้เรียนสร้างความรู้ด้วยตนเอง มุ่งเน้นกระบวนการเรียนรู้แบบถักทอสร้างความรู้ ทักษะ คุณลักษณะผู้เรียนเข้าด้วยกันด้วยการลงมือปฏิบัติจริง (Active Learning) มุ่งเน้นให้ผู้เรียนสามารถเข้าใจและเรียนรู้อย่างมีความสุข และพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ … และยังเป็นผู้เสนอให้รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา (ฉบับปรับปรุง) และใช้บังคับ ซึ่งได้ประกาศ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 … แต่พอมาสวมหมวกอีกใบเป็นประธานการสรุปหลักสูตรแกนกลาง ฐานสมรรถนะ กลับพลิกฟ้าพลิกแผ่นดิน ไม่สนับสนุนร่างที่ตัวเองเคยออกแบบไว้ … ฟังแล้วมึน *** เรื่องของมติบอร์ด กพฐ. ครั้งนี้ เป็นเรื่องใหญ่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ในฐานะฝ่ายเลขาของบอร์ดก็หนีไม่พ้นที่จะรู้จะเห็น หันไปทางซ้ายก็เจอ หันไปทางขวาก็เจอ แต่จะรับมือยังไง เพราะยังมีบุคคลกลุ่มหนึ่งที่จะได้ผลประโยชน์จากหลักสูตรฐานสมรรถนะ อย่างน้อยก็เรื่องตำราเรียนที่ต้องเปลี่ยนใหม่ยกแผง ว่ากันว่า ใครรู้ก่อนทำก่อนรวยก่อน แล้วยังมีเรื่องการอบรมพัฒนาครูอีกที่ต้องมีนายหน้ารับเปอร์เซ็นต์กันไป … เอวัง***
หลักสูตรฐานสมรรถนะพ่นพิษ ใครจะอยู่ ใครจะไป
Subscribe
0 Comments
Oldest