เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2565 ที่ห้องดังใจ โรงแรมอวานี อ่าวนา คลิฟฟ์ กระบี่ รีสอร์ท จังหวัดกระบี่  ได้มีการจัดประชุมสัมมนา “รับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ…โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ…”ซึ่งมี ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมช.ศึกษาธิการ)ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ.. เป็นประธานเปิดการประชุม ดร.กนกวรรณ กล่าวว่า การประชุมสัมมนาในครั้งนี้ เป็นการมารับฟังข้อเสนอแนะ ข้อคิดเห็น เกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯ รวมถึงรวบรวมประเด็นปัญหาและอุปสรรคที่เกิดจากการทำงานส่งเสริมการเรียนรู้ของกศน. เพื่อให้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ เป็นกฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาที่เป็นประโยชน์สูงสุดในการดูแลประชาชนทุกช่วงวัย ตั้งแต่ในครรภ์จนถึงเชิงตะกอน ไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ใด มีความแตกต่างทางวัฒนธรรม วิถีชีวิต เพราะทุกคนเป็นคนไทยบนผืนแผ่นดินไทย แม้ไม่มีสัญชาติไทย หรือคนไทยที่อาศัยในต่างประเทศ นอกราชอาณาจักรไทยก็ต้องได้รับการดูแลด้วย โดยตนขอเป็นตัวแทนรัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และขอเป็นตัวแทนคนไทยที่มีความปรารถนาให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ เรียนได้ทุกที่ทุกเวลาภายใต้การเรียนรู้อย่างมีความสุข

ทั้งนี้คณะกรรมาธิการฯได้แบ่งสายลงพื้นที่ต่าง ๆ ในกลุ่มอันดามัน โดยสรุปได้ว่า มีการสะท้อนในมิติที่สำคัญ 2 มิติ คือ มิติที่เกี่ยวข้องกับร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ…. และมิติในการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งในมิติที่เกี่ยวข้องกับพ.ร.บส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ…จะไปพูดกันในขั้นตอนของคณะกรรมาธิการฯ ส่วนมิติที่เกี่ยวข้องในการบริหารราชการแผ่นดินที่ขึ้นตรงกับกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่ง ดร.กนกวรรณ ในฐานะรัฐมนตรีที่ผู้กำกับดูแลสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(กศน.)และในฐานะประธานคณะกรรมาธิการฯจะต้องไปดำเนินการ โดยเฉพาะเรื่องอัตราครู เพราะกศน.จะมีภารกิจตามพ.ร.บ.ใหม่มากขึ้น แต่จำนวนครูยังน้อยอยู่มาก และที่สำคัญกศน.อำเภอ กศน.ตำบล ขณะนี้ยังไม่มีสำนักงานเป็นของตัวเอง ต้องอาศัยหน่วยงานอื่น ทั้ง ๆที่สำนักงานคือสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนงานให้บรรลุเป้าหมาย เพราะฉะนั้นอย่างน้อยที่สุด กศน.อำเภอ และ กศน.ตำบล ต้องมีสำนักงานเป็นของตัวเอง เพื่อให้เป็นขวัญกำลังใจของคนทำงาน และ ในส่วนของคนที่จะมาเป็นครูจะต้องมีทักษะความรู้และความชำนาญในเรื่องเทคโนโลยี ไอที ด้วย เพราะการเรียนการสอน กศน.ในปัจจุบันและในอนาคตจะมุ่งเน้นการเรียนผ่านระบบออนไลน์ เป็นส่วนใหญ่

สำหรับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลตามเกาะแก่งต่าง ๆ ที่เดินทางไปมาไม่สะดวก แต่ต้องการศึกษาหาความรู้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเขาให้ดีขึ้น ได้สะท้อนมาว่า อยากให้ลูกหลานมีการศึกษามากขึ้น อยากมีโรงเรียนขยายโอกาส อยากได้ครูเพิ่มขึ้น เพราะต้องเดินทางขึ้นฝั่งมาเรียนลำบาก วันไหนฝนตกก็ไม่ได้มา แต่สิ่งที่กังวลคือ อยากมีความรู้ใหม่ ๆ แต่ไม่อยากให้เปลี่ยนวิถีชีวิตชาวเล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยปฏิบัติ ทั้ง กศน.ตำบล กศน.อำเภอ กศน.จังหวัด สถาบันกศน.ภาค ศูนย์ฝึกอาชีพของกศน.และศูนย์วิทยาศาสตร์กศน.ที่สำนักงานกศน.จังหวัดกระบี่ ในกลุ่มอันดามัน ได้สะท้อนปัญหาเรื่องการบริหารงาน โดยเฉพาะกลุ่มสถาบันกศน.ภาค ได้สะท้อนให้เห็นถึงภารกิจตามพ.ร.บ.ส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ.2551 ที่ระบุให้สถาบันกศน.ภาค เป็น”สถานศึกษา” ซึ่งภารกิจที่ทำในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับพ.ร.บ.2551 เพราะปัจจุบันงานที่สถาบันฯทำอยู่ คือ งานด้านยุทธศาสตร์ งานวิชาการ การฝึกอบรม ดังนั้นจึงอยากขอให้คืนสถานะของกศน.ภาค มาเหมือนเดิม นอกจากนี้ กศน.ตำบล ซึ่งยังไม่มีสำนักงานเป็นของตัวเองก็อยากให้ยกระดับกศน.ตำบล เหมือนกับ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล(รพ.สต.) กระทรวงสาธารณสุข ที่รพ.สต.ดูแลเรื่องสุขภาพ กศน.ตำบล ดูเรื่องการเรียนรู้ ซึ่งต้องมีบ้านพักครู มีจำนวนครูเพียงพอกับภารกิจของงาน และมีสำนักงานเป็นของตัวเอง เป็นต้น

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments