วันที่ 8 เมษายน 2565 นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.) เป็นประธาน พิธีเปิดการฝึกอบรมโครงการพัฒนาศักยภาพครูสู่ผู้สร้างนวัตกรภายใต้หลักสูตร STEAM4INNOVATOR การฝึกอบรมครูแกนนำ ผ่านระบบออนไลน์ โดยนายมณฑล กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพครูในทุก ๆ ด้าน โดยเฉพาะในปัจจุบันที่องค์ความรู้ใหม่ ๆ ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมีความก้าวหน้าไปมาก และครูเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาผู้เรียน การพัฒนาศักยภาพครูด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม จึงเป็นกระบวนการสำคัญที่จะช่วยพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น สอศ.ร่วมมือกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพครูสู่ผู้สร้างนวัตกร ภายใต้หลักสูตร STEAM4INNOVATOR ในการพัฒนาครูด้านนวัตกรรมสู่การเป็นผู้ประกอบการ การพัฒนาองค์ความรู้และทักษะของครูที่ปรึกษาธุรกิจหรือหัวหน้าศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการอาชีวศึกษาซึ่งทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาธุรกิจให้มีทักษะด้านการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ ศิลปะ และคณิตศาสตร์ มาช่วยในการพัฒนาชิ้นงานนวัฒกรรมและนำไปสู่เชิงพาณิชย์
รองเลขาธิการ กอศ. กล่าวต่อไปว่า การฝึกอบรมครูแกนนำผ่านระบบออนไลน์ จัดระหว่างวันที่ 8 -10 เมษายน 2565 โดยอบรมจำนวนไม่น้อยกว่า 20 คน โดยเนื้อหาหลักสูตรที่อบรม เช่น S4I LAB – Stage 1 (INSIGHTS รู้ลึก รู้จริง) ฝึกกระบวนการเข้าใจกลุ่มเป้าหมายศึกษาสถานการณ์ปัญหาจากมุมมองใหม่และมองให้เห็นโจทย์ที่เข้าแก้ไขได้ , S4I LAB – Stage 2(Wowlldeas สร้างสรรค์ไอเดีย) ฝึกกระบวนการระดมความคิดแปลกใหม่ที่ตอบโจทย์นวัตกรรม , S4I LAB – Stage 3 (Proyotype/Blz Model) ฝึกสร้างแบบจำลองไอเดียเพื่อนำไปทดสอบจริง และพัฒนาเป็นแบบจำลองธุรกิจอย่างง่าย , S4I LAB – Stage 4 (Production/Diffusion) ฝึกการพัฒนาแบบจำลองไอเดียให้เป็นนวัตกรรมที่ใช้ได้จริง และนำเสนอแนวคิดนวัตกรรมอย่างได้ผล และCoaching lab ทดลองฝึกบทบาท “โค้ชนวัตกร” โดยมีเยาวชน 5 – 6 ทีม นำ project idea มาปรึกษา
นายมณฑล กล่าวว่า หลังจากการฝึกอบรมครูแกนนำเสร็จสิ้น จะมีการขยายผลการฝึกอบรมของครูแกนนำ โดยกำหนดจัดฝึกอบรมแก่ครูที่ปรึกษาธุรกิจ รุ่นละไม่น้อยกว่า 50 คน ดังนี้ รุ่นที่ 1 ระหว่างวันที่ 21 – 23 เมษายน 2565 รุ่นที่ 2 ระหว่างวันที่ 26 – 28 เมษายน 2565 รุ่นที่ 3 ระหว่างวันที่ 5-7 พฤษภาคม 2565 ซึ่งกิจกรรมนี้จะช่วยให้ครูแกนนำได้พัฒนาศักยภาพของตนเอง และขยายผลไปยังครูอาชีวศึกษาคนอื่น ๆ รวมถึงเพิ่มสมรรถนะด้านเทคนิคการสอนสู่ผู้สร้างนวัตกรด้วย