เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2565 ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) ว่า สืบเนื่องจากรัฐบาลได้ปรับเงินเดือนให้กับข้าราชการ 4% ตั้งแต่ปี 2559 โดยประเภทสามัญได้ผ่านระเบียบและมีผลใช้เรียบร้อยแล้ว แต่ในส่วนของโรงเรียนเอกชนประเภทอาชีวศึกษายังไม่ได้ปรับ เพราะอยู่ระหว่างก้ำกึ่งที่จะไปสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) ดังนั้น ที่ประชุมในวันนี้จึงมีมติเห็นชอบเสนอให้ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ ลงนามในร่างระเบียบ กระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการกำหนดมาตรการช่วยเหลือนักเรียนในโรงเรียนเอกชนเป็นเงินอุดหนุนรายบุคคล (ฉบับที่ …) พ.ศ. … ซึ่งร่างระเบียบดังกล่าว จะแก้เฉพาะในส่วนของนักเรียนในโรงเรียนเอกชนประเภทอาชีวศึกษา นักเรียนในโรงเรียนเอกชนการกุศลสอนศาสนาอิสลามของมัสยิดหรือมูลนิธิ ประเภทอาชีวศึกษา และนักเรียนพิการอาชีวศึกษา หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ในโรงเรียนเฉพาะทางและโรงเรียนทั่วไปกรณีเรียนร่วม เพื่อให้สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2564 ที่เห็นชอบให้ปรับเงินอุดหนุนรายบุคคลในส่วนของเงินสมทบเงินเดือนครู สำหรับโรงเรียนเอกชน ประเภทอาชีวศึกษา ระดับ ปวช. เพิ่มขึ้น จำนวน 450 ต่อคนต่อปี จากอัตรา 8,582.50 บาทต่อคนต่อปี เป็น 9,032.50 ต่อคนต่อปี
“ตอนนี้ สอศ. ได้เร่งเสนอให้ รมว.ศึกษาธิการ ลงนามเห็นชอบ เพื่อให้ดำเนินการเบิกจ่ายในปีงบประมาณ 2565 ทันที สำหรับส่วนการเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวให้กับนักเรียนโรงเรียนเอกชนในระบบนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาเพื่อที่จะเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวให้นักเรียนเหล่านี้ ซึ่งดิฉันได้เสนอให้ รมว.ศึกษาธิการพิจารณาแล้ว ทราบว่ากำลังพิจารณาหาช่องทางเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวให้กับนักเรียนโรงเรียนเอกชนในระบบเพื่อที่จะช่วยเหลือให้โรงเรียนได้รับการเยียวยา มีขวัญกำลังใจในการทำงาน”รมช.ศึกษาธิการ กล่าวและว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณาการคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมจากกองทุนส่งเสริมโรงเรียนในระบบใหม่ โดยเห็นชอบให้เปลี่ยนแปลงลดอัตราดอกเบี้ย จากร้อยละ 4 ต่อปี เป็นร้อยละ 2 ต่อปี เป็นระยะเวลา 3 ปี คือตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 – 31 พฤษภาคม 2568 เพื่อให้กองทุนส่งเสริมโรงเรียนเอกชนในระบบสามารถให้ความช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนในระบบที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ด้วย