เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2665 น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาระดับจังหวัด ผ่านระบบ VIDEO ZOOM MEETING ซึ่งมีผู้บริหาร ศธ. ผู้แทนจากธนาคารแห่งประเทศไทย กรมส่งเสริมสหกรณ์ สหกรณ์ออมทรัพย์ครู รองผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศเข้าร่วม ว่า การประชุมวันนี้ เป็นการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือน ให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาหนี้สินครู ซึ่งรัฐบาลโดย พล.อ.เอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับปัญหานี้ เนื่องจากเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อมานาน ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ได้ลงพื้นที่หาข้อมูลมาวางแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะได้พูดคุยกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครู
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า สหกรณ์ออมทรัพย์ครู ถือว่าเป็นเจ้าหนี้หลักของครู หากสามารถเจรจากับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูได้ก็จะสามารถช่วยเหลือครูได้อีกทางหนึ่ง โดยสหกรณ์ออมทรัพย์ครูที่มีทั้งหมด 108 แห่ง เวลานี้สามารถเจรจาไปได้แล้ว 70 แห่งแล้ว เพื่อขอลดดอกเบี้ย ซึ่งจะสามารถช่วยลดภาระครูได้ ขณะเดียวกันก็จะร่วมกับเครดิตบรูโร เพื่อขอข้อมูลครูแต่ละคนว่ามีหนี้สินเท่าไหร่ เพื่อมาใช้ในการวางแผนให้ความช่วยเหลือ เพื่อให้ครูมีเงินเหลือแต่ละเดือนไม่น้อยกว่า 30% มาใช้จ่ายในการดำรงชีวิต ขณะเดียวกันยังได้มีการตั้งสถานีแก้หนี้ครูระดับเขตและระดับจังหวัดรวม 558 แห่ง เพื่อทำหน้าที่ไกล่เกลี่ย ปรับโครงสร้างหนี้ และเพื่อหาแนวทางเบี้องต้นในการแก้ปัญหาให้ครูได้ตรงจุดตามความต้องการของครู โดยขณะนี้มีครูลงทะเบียนเพื่อขอให้แก้ปัญหาหนี้สินแล้วกว่า 2.7 หมื่นคน
ผู้สื่อข่าวถามว่า ได้วางแนวทางให้กับครูบรรจุใหม่ที่จะกู้เงินในอนาคต เพื่อไม่ให้มีหนี้สินเกินตัว หรือไม่ น.ส.ตรีนุช กล่าวว่า เรื่องนี้ได้คุยกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)เช่นกันว่าจะต้องให้ความรู้เรื่องการวางแผนการเงินให้กับครูกลุ่มนี้ โดยอาจจะจัดเป็นหลักสูตร หรือคอร์ส ในช่วยการปฐมนิเทศ เพื่อให้ครูมีความรู้ รู้จักการวางแผนการเงิน และจะไม่ไปก่อหนี้ในภายหน้า
ด้าน ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)กล่าวว่า ขณะนี้ สพฐ.ได้วางแผนในการดูแลปัญหาหนี้สินครูไว้ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 คือครูที่มีหนี้สินอยู่ ที่ต้องช่วยเหลือให้มีเงินเหลือแต่ละเดือนไม่น้อยกว่า 30% กลุ่มที่2 กลุ่มครูที่ยังไม่ถึงกับมีปัญหาหนี้สินมาก แต่ต้องวางแผนในการเกษียณอายุราชการ ซึ่งต้องมีการวางแผนบริหารจัดการหนี้สินที่มีอยู่ให้สามารถดำรงชีพได้ มีเงินเหลือเกิน 30% และไม่มีผลกระทบ และกลุ่มที่ 3 กลุ่มครูบรรจุใหม่ ซึ่งจะเน้นการวางแผนการใช้เงินไม่ให้มีปัญหาเหมือนรุ่นพี่ เพราะฉะนั้นจะต้องสอนให้มีวินัยทางการเงิน โดยสพฐ.จะร่วมกับกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กระทรงเกษตรและสหกรณ์ จัดอบรมเรื่องการทำบันทึกการใช้จ่ายเงิน การทำแผนทางการเงิน โดยเน้นเรื่องของวินัยทางการเงินของครู ที่จะต้องไม่ก่อหนี้ ไม่ปล่อยให้เป็นหนี้สินรุงรัง แล้วมาแก้ปัญหาภายหลัง