เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2565 ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยถึงการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานศึกษาและติดตามนโยบายต่างๆของกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ที่จังหวัดราชบุรี พร้อมด้วย น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ โดยมีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ราชบุรี เขต 1 และ เขต 2 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) ราชบุรี เข้าร่วม เมื่อเร็ว ๆ นี้  ว่า  รมว.ศึกษาธิการ ได้ฝากการบ้านให้เขตพื้นที่ฯ 3 ประเด็น คือ 1.จะทำอย่างไรให้ จ.ราชบุรี มีโรงเรียนคุณภาพระดับประถมศึกษา กระจายอยู่ทุกตำบล ทุกพื้นที่ เพื่อให้นักเรียนมีโอกาสได้เรียนในโรงเรียนคุณภาพที่ใกล้ที่สุด แต่จากการติดตามการสร้างโรงเรียนคุณภาพ พบว่าการดำเนินงานยังไม่เป็นไปตามทิศทางที่ควรจะเป็น จึงให้การบ้าน เขตพื้นที่ฯ ให้ไปปักหมุดโรงเรียนคุณภาพใหม่ พร้อมกับหาวิธีการยกระดับโรงเรียน และหาวิธีที่จะให้โรงเรียนอื่นๆ โดยรอบเข้ามาใช้ทรัพยากรของดรงเรียนคุณภาพได้อย่างไร

2.การดำเนินโครงการพาน้องกลับมาเรียน จากการติดตามพบว่า จ.ราชบุรี สามารถพาเด็กกลับมาเรียนได้ 116 คนแล้ว โดย น.ส.ตรีนุช ให้การบ้านไปว่า แม้จะตามเด็กกลับมาเรียนได้ แต่วันพรุ่งนี้เด็กก็อาจจะออกจากระบบไปอีกก็ได้ ดังนั้นจะทำอย่างไรถึงจะรู้ปัญหา สาเหตุของเด็กแต่ละคน และจะมีวิธีการช่วยเหลือร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ อย่างไร โดยเฉพาะการทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ที่มีโครงการอาชีวะ อยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ อาจจะให้ไปเรียน หรือช่วยฝึกอาชีพให้เด็กมีอาชีพช่วยเหลือผู้ปกครองได้ ซึ่งถือเป็นการแก้ไขปัญหาความยากจนโดยใช้การศึกษาเข้ามาช่วย และ 3.การสร้างสถานศึกษาปลอดภัย ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ อยากให้เขตพื้นที่ฯ สร้างความเข้าใจกับผู้ปกครอง นักเรียน และชุมชน ว่าโรงเรียนเป็นสถานที่ปลอดภัย แต่ถ้าพบว่ามีความไม่ปลอดภัยเกิดขึ้น ก็สามารถรายงานผ่านช่องทางต่างๆ ที่ ศธ.ได้กำหนดไว้ให้

“การลงพื้นที่ ถือเป็นเรื่องที่ดี เมื่อพบปัญหาจะได้นำไปศึกษาหาวิธีแก้ไข ถ้าเราไม่ลงพื้นที่สัมผัสด้วยตัวเองก็จะไม่รู้ปัญหาและจะไม่เกิดการต่อยอด ซึ่งผมจะไปหาวิธีการสร้างความเข้าใจที่ชัดเจนมากขึ้นกว่าเดิม โดยการติวเข้มผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่ (สพท.) เพราะถ้า ผอ.สพท.ไม่เข้าใจนโยบาย จะอธิบายให้กับโรงเรียนไม่เข้าไปตามไปด้วย”ดร.อัมพร กล่าวและว่า ส่วนประเด็นที่สะท้อนมาว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ต้องเรียนออนไลน์ ส่งผลให้เด็กเกิดภาวการณ์เรียนรู้ถดถอย (Learning Loss)นั้น วันนี้ไม่มีใครอยากให้เกิดปัญหานี้ แต่โลกเรากำลังพบเจอกับโรคระบาดอยู่ ดังนั้นเราจะช่วยกันอย่างไร และจะมีวิธีการเติมความรู้เด็กได้อย่างไร ซึ่งในปี 2565 รมว.ศึกษาธิการ ให้การบ้านว่า ในปีการศึกษา 2565 การเรียนการสอนจะไม่ใช่การต่อยอดสู่ความเป็นเลิศ แต่เป็นปีซ่อมสร้างเพื่อให้เด็กมีคุณภาพการศึกษาเหมือนเดิม”ดร.อัมพร กล่าว

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments