น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.)เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการ เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วยทั่วไป สังกัด สพฐ.ประจำปี 2564 เมื่อวันที่ 5-6 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้สมัครกว่า 1.7 แสนคน โดยจะประกาศรายชื่อผู้สอบผ่านภาค ก และ ข เพื่อมีสิทธิเข้ารับการประเมินภาค ค วันที่ 22 กุมภาพันธ์ และ สอบภาค ค ประเมินจากแฟ้มสะสมงาน และสอบสาธิตปฏิบัติการสอน ภาค ค ความเหมาะสมกับตำแหน่งวิชาชีพและการปฏิบัติงานในสถานศึกษา และประกาศผลสอบแข่งขัน ตามวันเวลา ที่คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) หรือคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) กำหนด โดยจะต้องแล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2565 นั้น ล่าสุดตนได้รับรายงานว่า เกิดการทุจริตขึ้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งตนได้กำชับให้ สพฐ.ดำเนินการตามระเบียบและกฎหมายขั้นเด็ดขาดแล้ว
ด้าน ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า จากการตรวจสอบ พบว่า กรณีดังกล่าวเป็นการปลอมแปลงบัตรประจำตัวประชาชนเข้าสอบแทน โดยคนที่เข้าสอบแทนเป็นคนจังหวัดมหาสารคาม สอบแทนผู้สมัครซึ่งเป็นครูอัตราจ้างในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เบื้องต้นสพฐ.ได้ลงโทษตัดสิทธิการเข้ารับราชการของทั้ง 2 คน ซึ่งจะไม่มีสิทธิเข้ารับราชการตลอดชีวิต โดยตนได้รายงานให้ รมว.ศึกษาธิการ รับทราบแล้ว ซึ่ง รมว.ศึกษาธิการก็ได้ย้ำให้ลงโทษเต็มที่ และทราบว่าทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเรียกผู้เกี่ยวข้องไปให้ปากคำ ซึ่งต้องไปดูด้วยว่า คนที่เข้าสอบแทนมีตำแหน่งหรือทำงานในหน่วยงานราชการหรือไม่ ถ้าเป็นข้าราชการก็จะต้องมีโทษทางวินัยและอาญา
“ผมย้ำมาตลอดเรื่องความโปร่งใส และไม่ให้มีการทุจริต แต่แม้จะป้องกันอย่างไรก็ยังเกิดขึ้น เหมือนตำรวจไล่จับโจร แต่ก็ยังมีคนทำผิดกฎหมาย เพราะเราห้ามไม่ได้ แต่ก็ป้องกันและตรวจสอบได้”เลขาธิการ กพฐ.กล่าวและว่า สำหรับการสอบครั้งนี้มีผู้เข้าสอบกว่าร้อยละ 80 และพบว่า ผู้สมัครบางรายติดเชื้อโควิด-19 ซึ่ง สพฐ. ก็ไม่ได้ตัดสิทธิ เพียงแต่ให้แยกห้องสอบ