เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565  ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุม กพฐ. ว่า ที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าของร่างกรอบหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ…..(หลักสูตรฐานสมรรถนะ) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)นำเสนอ  โดยที่ประชุมมีความเห็นพ้องกันว่า หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 มีการใช้มานานพอสมควรแล้ว และในช่วงหลายปีที่ผ่านมาโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก จึงเห็นควรว่า ต้องมีการปรับปรุงหลักสูตร และการมุ่งเน้นเรื่องของสมรรถนะก็เป็นเรื่องที่เหมาะสม อย่างไรก็ดีในส่วนของการนำไปใช้ในทันทีอาจจะยังไม่พร้อม เนื่องจากตอนนี้ยังอยู่ในขั้นทดลองใช้ในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาซึ่งโรงเรียนสามารถนำไปใช้ได้ทันที เพราะมีกฎหมายรองรับให้สามารถนำไปใช้ได้ โดยพื้นที่นวัตกรรมฯมีโรงเรียนทั้งสิ้น 467 โรง แต่สมัครมาในช่วงแรก 224 โรง

“สพฐ.ได้มานำเสนอความคืบหน้าหลักสูตรฐานสมรรถนะ ว่า ณ วันนี้ยังเป็นร่างหลักสูตรและยังอยู่ในขั้นตอนการทดลองใช้ในพื้นที่นวัตกรรมฯ  ซึ่งที่ประชุมก็มีการอภิปราย ตั้งข้อสังเกต และให้คำแนะนำ โดยกรรมการเห็นว่าเรื่องการจัดการเรียนการสอนที่เน้นสมรรถนะเป็นเรื่องที่เหมาะสมกับยุคสมัย ซึ่งโรงเรียนที่อยู่นอกพื้นที่นวัตกรรมฯหากมีความพร้อมก็ควรเปิดโอกาสให้ใช้ได้ด้วย จึงมอบให้ สพฐ.ไปจัดทำแผนมาเสนอที่ประชุมต่อไป นอกจากนี้ที่ประชุมได้ตั้งขอสังเกตถึงการนำหลักสูตรฐานสมรรถนะมาใช้ในปี 2565 ว่า เนื่องจากมีเรื่องข้อกฎหมายและขั้นตอนต่าง ๆ ที่อาจจะไม่ทันการ เพราะจะเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2565 ในเดือนพฤษภาคม แล้ว อย่างไรก็ตามหลักสูตรปัจจุบันที่ใช้อยู่ก็สามารถเน้นสมรรถนะได้ ขึ้นอยู่กับผู้สอนที่จะจัดการเรียนการสอนให้เน้นสมรรถนะเรื่องอะไร”ประธาน กพฐ.กล่าวและว่า วันนี้โลกเปลี่ยนแปลงไปมาก เนื้อหาวิชาสามารถหาได้ทั่วไป โครงสร้างหลักสูตรเป็นเพียงแนวทาง แต่หัวใจสำคัญคือครูผู้สอน ซึ่ง น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ ก็เน้นเรื่องActive Learning ทำอย่างไรให้เกิดขึ้นได้จริง โดยไม่ใช่ครูป้อนให้หมด แต่เด็กต้องฝึกหาความรู้เอง เอาความรู้ไปใช้ประโยชน์ ซึ่งครูจะต้องสอนนักเรียนให้ทำให้ได้

ด้าน ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นตรงกันว่าหลักสูตรในอนาคตหนีเรื่องฐานสมรรถนะไม่ได้ เพราะมีความจำเป็น แต่จะใช้ได้เมื่อไหร่ก็ต้องตอบข้อสังเกต ข้อห่วงใยต่าง ๆ ให้ได้ก่อน โดยหลักสูตรจะต้องมีความสมบูรณ์ และทุกคนเห็นพ้องต้องกัน ดังนั้น สพฐ.จะรับมาทำแผนว่า จะนำไปใช้ได้เมื่อไหร่ อย่างไร เพื่อเสนอที่ประชุมครั้งต่อไป

 

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments