เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดรับสมัครสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการ เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วยทั่วไป สังกัด สพฐ.ประจำปี 2564 โดยรับสมัครวันที่ 4-10 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้สมัครกว่า 1.7 แสนราย แต่เนื่องจากการสอบตามกำหนดการเดิมนั้นเป็นช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 จึงได้มีการเลื่อนปฏิทินการสอบใหม่เป็น สอบภาค ก ความรู้ความสามารถทั่วไป วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2565 สอบภาค ข ประสบการณ์ความรู้และมาตรฐานวิชาชีพ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2565 ประกาศรายชื่อผู้สอบผ่านภาค ก และ ข เพื่อมีสิทธิเข้ารับการประเมินภาค ค วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 สอบภาค ค ประเมินจากแฟ้มสะสมงาน และสอบสาธิตปฏิบัติการสอน ภาค ค ความเหมาะสมกับตำแหน่งวิชาชีพและการปฏิบัติงานในสถานศึกษา และประกาศผลสอบแข่งขัน ตามวันเวลา ที่คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) หรือคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) กำหนด โดยจะต้องแล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2565 นี้นั้น ขณะนี้ทุกจังหวัด อนุมัติให้ สพฐ. ดำเนินการจัดเตรียมสนามสอบ โดยจัดสอบห้องละ 25 คน มีการเว้นระยะห่างตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีจังหวัดเชียงใหม่ เพียงจังหวัดเดียวที่จัดสอบห้องละ ไม่เกิน 12 คน ตามมาตรการของจังหวัด ส่วนข้อสอบมอบหมายให้มหาวิทยาลัยเป็นผู้ดำเนินการ
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า ณ เวลานี้ สพฐ. ยืนยันยังจัดสอบครูผู้ช่วยตามวันและเวลาที่กำหนด โดยได้เตรียมมาตรการป้องกันที่เข้มข้น มีการตรวจATK หากผู้เข้าสอบมีอุณหภูมิสูง ก็จะให้แยกห้องสอบ เพื่อความปลอดภัย ดังนั้นจึงอยากให้ผู้ที่จะเข้าสอบทุกคน ระมัดระวังตัวเอง ไม่ไปในสถานที่เสี่ยง ดูแลตัวเองให้พร้อม อย่างไรก็ตามการสอบครูผู้ช่วยรอบทั่วไปครั้งนี้แทนตำแหน่งว่าง กว่า 1 หมื่นอัตรา โดยคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ที่มี น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธาน เห็นชอบปรับวิธีการจัดสอบแข่งขัน จากเดิมต้องสอบในจังหวัดที่สมัครเท่านั้น มาเป็นสามารถสอบในจังหวัดที่เป็นภูมิลำเนา หรือจังหวัดที่อยู่อาศัยในปัจจุบันได้ เพื่อไม่ให้เกิดการเคลื่อนย้ายหรือการเดินทางข้ามจังหวัดลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
“ส่วนการป้องกันปัญหาการทุจริตสอบ นั้น สพฐ.ได้มีหนังสือกำชับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัดทุกคนไม่ให้จัดติว และ ข้อสอบ สพฐ.ก็ไม่ได้ออกเอง แต่มอบหมายให้หน่วยงานอื่นดำเนินการ ส่วนปัญหาเรื่องการตกเบ็ด หรือแอบอ้างว่าสามารถช่วยให้สอบผ่านได้แต่สุดท้ายช่วยไม่ได้ ทำให้เกิดการฟ้องร้องเช่นที่ผ่านมานั้น ก็ต้องขอเตือนว่าอย่าไปหลงเชื่อ และให้คิดว่าถูกหลอกแน่นอน”ดร.อัมพรกล่าว