เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2565 น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบนโยบายว่า ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ได้ให้ความสำคัญและดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินให้ครูและบุคลากรทางการศึกษามาบ้างแล้ว อย่างไรก็ตามการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ เกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน ทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง และสถาบันการเงินต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีสหกรณ์ออมทรัพย์ครูมากกว่า 100 แห่ง แต่ละแห่งมีนโยบายการทำงานที่แตกต่างกัน ที่ผ่านมา ศธ.เน้นแก้ปัญหาหนี้สินครูในสหกรณ์ออมทรัพย์ครูก่อน โดยให้ลดดอกเบี้ย เพื่อลดภาระครู โดยได้ส่งหนังสือไปถึงประธานสหกรณ์ออมทรัพย์ครูทุกแห่ง ให้สมัครเข้าร่วมโครงการแก้ปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยใช้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูต้นแบบเป็นฐานซึ่งขณะนี้มีสหกรณ์ออมทรัพย์ครู กว่า 20 แห่งที่สนใจเข้าร่วมโครงการแล้ว ส่วนมาตรการอื่นๆ อยู่ระหว่างหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อปรับระเบียบกฎเกณฑ์ให้สอดรับกันต่อไป อย่างไรก็ตาม ตนมอบหมายให้นายสุทธิชัย จรูญเนตร ที่ปรึกษารมว.ศึกษาธิการ และนายสุทิน แก้วพนา รองปลัด ศธ. ศึกษารายละเอียด เชิญชวนสหกรณ์ออมทรัพย์ครูเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นต่อไป ทั้งนี้คาดว่าเชื่อว่าแนวทางนี้จะสอดรับกับนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่เน้นแก้ปัญหาหนี้สินทั้งระบบได้
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังได้มอบแนวทางการพัฒนาบ้านพักข้าราชการกระทรวงต่างๆ เพราะรัฐบาลต้องการดูแลสวัดิการและสวัสดิภาพของข้าราชการทุกภาคส่วน ซึ่งในส่วนของ ศธ.มีโครงการพัฒนาบ้านพักครู เพื่อให้ครูได้รับสวัสดิการที่ดี เพราะปัจจุบันบ้านพักครูมีสภาพทรุดโทรม โดย ศธ.ตั้งเป้าไว้ว่าจะนำโรงเรียนที่ถูกควบรวมในพื้นที่ต่าง ๆ มาพัฒนาเป็นบ้านพักครู และศูนย์การเรียนรู้ ซึ่งเบื้องต้นได้วางแผนไว้แล้วว่า จะนำร่องโครงการในอำเภอหรือพื้นที่ใด โดยจะเร่งนำเสนอแผนต่อนายกรัฐมนตรี และ ครม.เพื่อพิจารณาต่อไป
น.ส.ตรีนุช กล่าวด้วยว่า ในส่วนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ตนได้กำชับให้หน่วยงานหลักของ ศธ.เน้นย้ำให้ส่วนราชการและสถานศึกษาปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัย 6-6-7 เพื่อลดความเสี่ยงโควิดในสถานศึกษาอย่างเคร่งครัด ส่วนการเปิดปิดสถานศึกษา และการจัดการเรียนการสอนว่าจะจัดการเรียนการสอนในรูปแบบไหน ขอให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเป็นผู้พิจารณา เพราะแต่ละพื้นที่มีบริบทที่แตกต่างกัน
“การรับมือกับการระบาดในครั้งนี้ ถือว่าทำได้ดี เพราะที่ผ่านมาเรารับมือโดยการปิดสถานศึกษาทั้งหมด แต่ครั้งนี้นักเรียนได้รับวัคซีน ทำให้ความรุนแรงการติดโรคน้อยลง และความตื่นตระหนกก็ลดน้อยลงด้วย ดังนั้นจะไม่มีการปิดสถานศึกษาทั้ง 100% เหมือนที่ผ่านมาแล้ว แต่จะจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับพื้นที่ เช่น โรงเรียนขนาดใหญ่ จะจัดการเรียนการสอนในรูปแบบสลับวันมาเรียน หรือเรียนออนไลน์ ส่วนโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนต่ำกว่า 120 คน หรือโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล ไม่จำเป็นต้องปิด ส่วนความกังวลเรื่องของคุณภาพการเรียนนั้น ขณะนี้ ศธ.ได้พัฒนาแพลตฟอร์มต่างๆ ให้นักเรียนได้เข้าถึงการศึกษาที่มากขึ้น และจะเร่งพัฒนาให้เด็กเข้าถึงแพลตฟอร์มการศึกษาต่าง ๆ ให้มากขึ้นด้วย” รมว.ศึกษาธิการ กล่าว