นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลัง เป็นประธาน การประชุมทางไกล(Conference) เพื่อชี้แจงการบริหารงบประมาณ ปลายปีงบประมาณ 2561 ร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการโรงเรียน และ ครู ทั่วประเทศ เพื่อให้การดำเนินงานเกี่ยวกับการบริหารงบประมาณเหลือจ่ายปลายปี 2561 ที่เหลืออยู่ประมาณ 2,000 ล้านบาท ให้เป็นไปอย่างเรียบร้อย ว่า ในการประชุมพอจะสรุปโดยสังเขปว่า ด้านโครงสร้างบริการพื้นฐาน เช่นค่าสาธารณูปโภคที่โรงเรียนค้างจ่าย สพฐ.จะจ่ายให้ ค่าปรับปรุงซ่อมแซมบ้านพักครู อาคารเรียนระบบไฟฟ้า ค่าน้ำ เป็นต้น ให้เรียงตามลำดับความสำคัญ ซึ่งเรื่องเหล่านี้จะดำเนินการไม่ให้ค้างท่อ เพื่อไม่ให้เป็นภาระของงบประมาณปีต่อไป
“ผมได้ให้นโยบาย สพฐ.ไปว่า ต่อไปนี้สำนักต่าง ๆ กว่า 20 สำนักของสพฐ.ไม่ต้องขอข้อมูลไปที่โรงเรียน อยากได้ ให้ขอมาที่สำนักนโยบายและแผนสพฐ. เพื่อไม่ให้ขอเกินความจำเป็นหรือขอที่ซ้ำซ้อน บางเรื่องมีข้อมูลอยู่แล้วก็ไม่จำเป็นต้องมาขอซ้ำซ้อนอีก ส่วนโครงการอื่นนอกกระทรวงถ้ามาทำโครงการกับโรงเรียนก็ขอให้เจ้าของโครงการนั้นประเมินตัวเอง ไม่ใช่มาทำโครงการแล้วให้ครูเป็นคนประเมินให้ โครงการของใครคนนั้นก็ต้องรับผิดชอบเอง และต่อไปนี้จะไม่มีการสั่งการให้ทำโครงการจากส่วนกลาง หรือเขตพื้นที่การศึกษา ให้โรงเรียนตัดสินใจเอง” รมว.ศึกษาธิการ กล่าวและว่า นอกจากนี้ตนยังให้นโยบายการลดภาระงานของครูผู้สอน โดยจะแก้ปัญหาธุรการครบวงจรเหมือนกับคูปองครูครบวงจร ซึ่งจะใช้งบประมาณ 1,000 กว่าล้านบาท รวมถึงนักการภารโรงด้วย ซึ่งอาจจะจ้างแบบเหมาจ่าย โดยไม่จำเป็นจะต้องจ้างระดับปริญญาตรีทั้งหมด ให้ดูระดับการทำงาน