เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.2564 ว่าที่ ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงเรื่องคุณภาพของโรงเรียน ขณะเดียวกัน น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ(ศธ.)ก็ได้กำชับเน้นย้ำให้เร่งจัดสร้างโรงเรียนคุณภาพของชุมชน โรงเรียนดีสี่มุมเมือง และดูแลโรงเรียนสแตนอโลนให้มีคุณภาพ เพื่อเป็นตัวอย่างในการพัฒนาโรงเรียนที่มีคุณภาพในอนาคต โดยให้เร่งดำเนินการให้เห็นเป็นรูปธรรมให้ได้ในปี 2565 ซึ่งตนจะเร่งเชิญประชุมโรงเรียนแต่ละกลุ่มไปตามลำดับ เนื่องจากแต่ละกลุ่มจะมีรูปแบบและการพัฒนาที่แตกต่างกัน แต่เป้าหมายเดียวกัน คือ โรงเรียนที่มีคุณภาพ และเป็นตัวอย่างสำหรับโรงเรียนอื่น ๆ ต่อไป โดยโรงเรียนคุณภาพของชุมชน 183 โรง โรงเรียนดีสี่มุมเมือง 77 โรง และโรงเรียนสแตนอโลน 89 โรง
รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า และเมื่อเร็ว ๆ นี้ตนได้เชิญโรงเรียนกลุ่มแรกมาประชุมแล้ว คือโรงเรียนที่ได้รับการคัดเลือกจากเขตพื้นที่การศึกษา ให้เป็นโรงเรียนคุณภาพของชุมชน 183 โรง จาก 183 เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.)มาประชุม และมอบหมายให้กลับไปทำแผน และหาเครือข่าย ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อดึงเด็กเข้ามาเรียนรวม โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)จะสนับสนุนงบประมาณในการสร้างอาคารเรียน และสื่อในการพัฒนาโรงเรียนไปให้ เนื่องจากโรงเรียนคุณภาพของชุมชนมีองค์ประกอบที่สำคัญ คือ อาคารสถานที่ต้องพร้อม ครูต้องครบทุกวิชา มีสื่อและเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีห้องปฏิบัติการเรียนการสอนที่ทันสมัย ส่วนครูก็จะการสร้างแฟลต หรือหอพักให้กรณีที่ครูเดินทางไปกลับไม่สะดวก เช่นเดียวกับนักเรียน หากอยู่ไกลก็จะมีหอพักให้ แต่ถ้าสามารถเดินทางไปกลับได้ก็จะมีค่ารถรับส่งนักเรียนให้ ถือเป็นการดูแลโรงเรียนทั้งระบบ
“น.ส.ตรีนุช รมว.ศึกษาธิการ ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนโรงเรียนคุณภาพ เหมือนการสร้างโรงเรียนนานาชาติให้ชุมชน เป็นโรงเรียนดีที่อยู่ในชุมชน โดยให้ทุกฝ่ายทำงานร่วมกัน ซึ่งในส่วนของโรงเรียนคุณภาพของชุมชน ก็เปรียบเสมือนโรงเรียนแม่เหล็กที่จะดึงเด็กจากโรงเรียนเล็ก ๆ ที่กระจายอยู่ให้มารวมกัน เพื่อให้มีขนาดใหญ่ขึ้น มีความสมบูรณ์มากขึ้น ทั้งเรื่องงบประมาณ ครู และสื่อ รวมถึงสิ่งแวดล้อม แต่หากปล่อยไว้ให้เป็นโรงเรียนเล็ก ๆ มีนักเรียน 20-30 คน ก็จะไม่สามรถสร้างคุณภาพให้เกิดขึ้นได้ ขณะที่โรงเรียนดีสี่มุมเมือง จะเป็นโรงเรียนมัธยมที่สร้างขึ้นจากโรงเรียนมัธยมศึกษาในอำเภอที่มีอยู่แล้ว เพื่อสกัดเด็กที่จบประถมศึกษาไม่ให้เข้าไปเรียนในจังหวัด หรือในเมือง ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาที่หนาแน่น โดยสพฐ.จะเข้าไปดูแลสนับสนุนงบประมาณในการสร้างอาคารเรียน และสื่อในการพัฒนาโรงเรียน เช่นเดียวกับโรงเรียนคุณภาพของชุมชน ส่วนโรงเรียนสแตนอโลน คือโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ตามเกาะแก่ง หรือพื้นที่ที่เดินทางไปมายากลำบาก ไม่สามารถไปรวมกับโรงเรียนอื่นได้ ก็จะต้องได้รับการพัฒนาให้เป็นโรงเรียนที่มีคุณภาพให้ได้เช่นกัน”ว่าที่ร้อยตรีธนุ กล่าว