เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.2564 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)เปิดเผยว่า จากการสำรวจ ข้อมูลนักเรียนรายบุคคล(DMC)ปีการศึกษา 2564 ณ วันที่ 25 มิ.ย.และวันที่ 10 พ.ย.พบว่าภาพรวมของกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ปีนี้มีเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาทุกสังกัดของกระทรวงศึกษาธิการกว่า 6 หมื่นคน ซึ่งมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา เฉพาะสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ตัวเลขสูงถึง 3 หมื่นคน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.)เกือบ 2 หมื่นคน แล้วยังมีโรงเรียนในสังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษาเอกชน(สช.)และจากสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(กศน.)อีก ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แสดงความเป็นห่วง และสั่งการให้ กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ต้องนำเด็กเหล่านี้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา ตามนโยบายรัฐบาลที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ประกอบกับ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ ก็ถือให้เรื่องการลดความเหลื่อมล้ำเป็นวาระแห่งชาติ จึงมอบให้ สพฐ. สำรวจเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา และนำกลับเข้ามาในระบบการศึกษาให้ได้
รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า วิธีการที่จะนำเด็กที่หลุดจากระบบกลับเข้ามาสู่ระบบการศึกษาให้ได้นั้น จะเริ่มต้นจากการใช้โปรแกรมแอพพลิเคชันปักหมุด เพื่อค้นหาเด็กทั้ง 6 หมื่นกว่าคนด้วยเลขบัตรประชาชน 13 หลัก ว่าแต่ละคนอยู่ที่ไหน จากนั้นจะมีการเปิดตัวโครงการ”ตามน้องกลับมาสู่ห้องเรียน” โดยในช่วงต้นเดือนมกราคม 2565 จะมีการทำMOU ร่วมกับ 6 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย(มท.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.)กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.)สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.)และกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน(ตชด.)เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและร่วมกันตามหาเด็กทั้งหมดให้เจอ จากนั้นจะลงพื้นที่เช็กอิน คือไปให้ถึงตัวเด็ก เพื่อหาสาเหตุที่เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาเป็นรายบุคคล แล้วมาประมวลและวิเคราะห์ร่วมกันว่าจะให้เด็กเข้าสู่ระบบอย่างไร เช่น จบ ม.3 แล้วควรกลับเข้ามาเรียนกศน.หรืออาชีวะ แต่ถ้ายังไม่จบการศึกษาภาคบังคับก็ต้องเรียนให้จบการศึกษาภาคบังคับก่อน
“โครงการ”ตามน้องกลับมาสู่ห้องเรียน”เป็นความร่วมมือ ที่ทุกหน่วยงานจะต้องประสานงานกันอย่างเข้มข้น เมื่อเจอตัวเด็กแล้วต้องหาสาเหตุให้เจอเพื่อจะได้ส่งต่อได้ถูก เช่น ถ้าเด็กออกเพราะความยากจนก็จะส่งให้ พม.หรือกสศ.หาทุนให้ ถ้าต้องช่วยพ่อ แม่ทำงานก็ต้องเรียนอาชีวะ ซึ่งตอนนี้มีโครงการเปิดวิทยาลัยให้เด็กเรียนฟรี กินฟรี อยู่ฟรี มีงานทำ หรือถ้าพิการก็ให้สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สังกัดสพฐ.ดูแลเพราะเราต้องทำงานคู่ขนานกัน เป็นต้น และสุดท้ายคือต้องธำรงรักษาเด็กอย่าให้หลุดออกไปอีก โดยจะมีครูแนะแนว นักจิตวิทยา เข้ามาดูแล โดยจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”รองเลขาธิการกพฐ. กล่าว