วันที่ 2 ธ.ค.2564 ที่ โรงแรมอวานี พลัส ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.)ได้จัดประชุมเครือข่ายการศึกษาและหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ เรื่อง”ทิศทางการศึกษาไทย กับการพัฒนากำลังคนในศตวรรษที่ 21 เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสำหรับการทำงานในโลกที่ผันผวน”โดยมี ศ.กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดประชุมและมอบนโยบายทิศทางการศึกษาไทยในปัจจุบัน พร้อมด้วย น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา ตัวแทนสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม และเอกอัครราชทูตต่างประเทศประจำประเทศไทยเข้าร่วม

ศ.กิตติคุณ ดร.วิษณุ กล่าวว่า แนวทางการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ต้องทำหลายอย่าง ทั้งกฏหมายการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ เพื่อเป็นแนวทางหรือเข็มทิศนำทาง ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นตอนของรัฐสภาแล้ว ขณะเดียวกันในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับสภาฯกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ก็กำลังดำเนินการอยู่หลายเรื่อง อย่างไรก็ตาม ตนไม่คิดว่าการปฏิรูปการศึกษาต้องทำตูมเดียวแล้วเห็นผล แต่ต้องทำหลายอย่าง โดยสิ่งที่มีความสำคัญอย่างมาก คือยุทธศาสตร์ของชาติว่าด้วยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้าน หมายถึงการฝึกคนให้มีคุณภาพ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ และเป็นแนวทางของการจัดประชุมสัมมนาในครั้งนี้ เนื่องจากการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ต้องใช้หลายอย่าง และหลายกระทรวง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงแรงงาน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.)กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น แต่กระทรวงที่มีความสำคัญอย่างมาก คือกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นต้นน้ำ เราอยากเห็นคนเป็นอย่างไรก็ต้องใส่การศึกษาไปอย่างนั้น การประชุมวันนี้จึงเป็นการนำการศึกษามาต่อยอดการพัฒนามนุษย์ โดยเชิญเอกอัครราชทูตประเทศต่าง ๆ ที่เรามองว่าเขาสามารถพัฒนาคนให้มีคุณภาพได้ โดยใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือ และหอการค้าต่างประเทศที่มีประสบการณ์มาร่วมให้ข้อมูลและบอกเล่าประสบการณ์ เนื่องจากหอการค้าเป็นหน่วยงานที่ใช้คน ซึ่งจะทำให้เราได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เพื่อการวางแผนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ต่อไป

“วันนี้ ถือเป็นการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน และต่างประเทศในเรื่องการศึกษาเป็นครั้งแรก ซึ่งเราหวังผลว่าจะประสบความสำเร็จ เหมือนกับเวทีด้านอื่น ๆ ที่รัฐบาลจัดมาแล้วและประสบความสำเร็จ ซึ่งผมก็ดีใจ และขอบคุณสภาการศึกษาที่ลุกขึ้นมาจัดเรื่องนี้ มิฉะนั้นภาครัฐก็จะจัดเอง เออเอง อยู่คนเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราอยู่ในยุคของ VUCA World ซึ่งเป็นยุคของความผันผวน ความไม่แน่นอน ความสลับซับซ้อนคลุมเครือ อยู่บนความไม่แน่นอนจึงต้องมาคิดว่าจะทำอย่างไรให้เราสามารถปรับสภาพสังคมให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นต้องเริ่มต้นให้คนไทยรู้จักปัญหาให้ได้ก่อน แล้วค่อยมาพูดเรื่องการแก้ไขปัญหา ซึ่งการศึกษาจะเป็นทางออกหนึ่ง”รองนายกรัฐมนตรี กล่าวและว่า ที่ผ่านมาเราจะไม่พูดว่าหลักสูตรล้าสมัย แต่จะบอกว่าการจัดการศึกษาล้าสมัย คือไม่สามารถทำให้เด็กคิดเอง ทำเองได้ ทำให้วันนี้เราต้องมาพูดเรื่องของการสอนประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง การรับผิดชอบต่อสังคม และการเรียนการสอนแบบActive Learning การเรียน Coding เป็นต้น

ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า จากสถานการณ์ ความผันผวนในยุค VUCA World ซึ่งมีความรุนแรงมากกว่า ยุค Disruption รมว.ศึกษาธิการ จึงให้แนวคิดว่า อยากให้สภาการศึกษาออกแบบสร้างคนรุ่นใหม่ทุกช่วงชั้น ว่าควรมีวิชาชีพติดตัว โดยเป็นวิชาชีพที่เหมาะสมกับช่วงวัย เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันเมื่อต้องออกจากระบบการศึกษา พร้อมกันนี้ให้ออกแบบเพื่อสนองตอบความต้องการของตลาดแรงงาน รวมถึงออกแบบวิธีการจัดการศึกษาที่มุ่งเน้นสมรรถนะในการทำงาน รองรับอาชีพใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย โดยรองนายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้ออกแบบสมรรถนะเด็กตั้งแต่ระดับปฐมวัย และให้เริ่มค้นหาความต้องการของเด็กเพื่อวางแผนที่ชีวิตตั้งแต่เด็กเล็กด้วย

“สกศ.มองแนวโน้มการศึกษาและภาคกำลังคนแห่งอนาคต ควรเติบโตไปด้วยกัน หรือ Common Growth มุ่งเน้นสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยการพัฒนากำลังคน ยกระดับการพัฒนาฝีมือแรงงาน ดังนั้นทุกช่วงวัยจึงต้องมีกรอบทางเดินการศึกษาที่ชัดเจน โดยทุกภาคส่วนต้องช่วยกันออกแบบภายใต้เป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน”เลขาธิการสภาการศึกษากล่าว

 

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments