เมื่อวันที่ 25 พ.ย.2564 น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า เมื่อเร็วๆนี้ ตนลงพื้นที่ จ.ชลบุรี และได้สุ่มตรวจเยี่ยมโรงเรียนแบบไม่แจ้งล่วงหน้า 2 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนบ้านหนองเขิน และโรงเรียนเทพศิรินทร์ ชลบุรี (อุทกวิทยาคม)เพื่อให้ขวัญและกำลังใจหลังจากเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 แล้ว ทั้งนี้จากการลงตรวจเยี่ยมพบว่า โรงเรียนได้บริหารจัดการเรียนการสอนภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 เป็นอย่างดี ซึ่งโรงเรียนบ้านหนองเขิน เป็นโรงเรียนขยายโอกาส และเป็นโรงเรียนคุณภาพของชุมชน อยู่ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ชลบุรี เขต 1 มีนักเรียน 403 คน นักเรียน และครู ส่วนใหญ่ได้ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว จึงดำเนินการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไซต์ 100% ในระดับมัธยมศึกษา ส่วนระดับประถมศึกษามีนักเรียนค่อนข้างมาก จึงให้สลับกันมาเรียน เพื่อให้เด็กไม่เสียโอกาสการเรียนรู้
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ส่วนโรงเรียนเทพศิรินทร์ ชลบุรี เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดเล็ก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) เขต 18 (ชลบุรี-ระยอง) เปิดสอนระดับชั้นม.1-ม.6 มีข้าราชการครู 7 คน ครูธุรการ 1 คน และมีครูอัตราจ้าง 2 คน มีนักเรียน 90 คน แต่ยังเปิดสอนออนไลน์อยู่ ตนได้ความเข้าใจกับผู้บริหารและครูว่า หากโรงเรียนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันอย่างเข้มงวด สามารถจัดการเรียนการสอนแบบเว้นระยะห่างได้ ครู นักเรียนได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโรงเรียนดังกล่าวเป็นโรงเรียน Stan Alone และยังพบว่ามีโรงเรียนคุณภาพที่อยู่ใกล้เคียงกันมีความพร้อมสามารถส่งเด็กไปเรียนได้ อีกทั้งครู ผู้ปกครองและชุมชนก็เห็นด้วยพร้อมที่จะย้ายนักเรียนไปเรียนโรงเรียนอื่น เพื่อให้เด็กมีโอกาสที่ดีว่าเดิม ซึ่งตนจะรับโจทย์นี้ไปหารือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)ว่าจะดำเนินอย่างไรกับโรงเรียนลักษณะแบบนี้
ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)กล่าวว่า โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)มีขนาดที่แตกต่างกัน ทั้งโรงเรียนขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ซึ่งจะให้มาเรียนรวมกันทั้งหมดก็ไม่ได้ โรงเรียนขนาดเล็กก็ขาดครู ดังนั้นจึงเป็นโจทย์ให้สพฐ.ต้องหาวิธีการที่จะทำให้โรงเรียนที่มีนักเรียนที่อยู่ระหว่าง 120 คนขึ้นไป จนถึง 3,000 คน มีการบริหารจัดการที่มีคุณภาพทั้งมิติของครู มิติของอาคารสถานที่ จึงเป็นที่มาของการทำโรงเรียนคุณภาพ ของตำบล โรงเรียนคุณภาพของชุมชน ขณะที่วิธีการยุบ ควบรวมโรงเรียน จะทำทันที่ไม่ได้ เพราะต้องทำความเข้าใจกับชุมชน และโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ในที่ดินของวัดด้วย
“ในการประชุมผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศที่ผ่านมา ผมได้ให้นโยบายว่าให้เขตพื้นที่การศึกษาแต่ละเขตไปกำหนดกลุ่มเครือข่ายการพัฒนาคุณภาพโดยมีเป้าหมายใช้ทรัพยากรร่วมกันให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อจัดสรรงบประมาณ สิ่งก่อสร้าง อุปกรณ์การเรียนการสอน ครูก็ให้มีเพียงพอห้องปฏิบัติการก็ให้มีเพียงพอ ลงที่จุด ที่เป็นศูนย์กลาง ซึ่งก็จะประหยัดงบประมาณ คุณภาพก็จะเกิดขึ้นในอนาคต”เลขาธิการ กพฐ.กล่าวและว่า ดังนั้นแม้ว่าจะไม่มีการควบรวมโรงเรียน ก็สามารถมาใช้ทรัพยากรร่วมกันได้ เพราะเราตอบโจทย์อันเดียวกันคือต้องการให้มีคุณภาพ