เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 ที่ วิทยาลัยเทคนิคกระบี่ จังหวัดกระบี่ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการเป็นประธานการประชุมหัวหน้าส่วนราชการทางการศึกษา เพื่อติดตามนโยบายรัฐบาลและนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ได้แก่ จังหวัดกระบี่ ตรัง พังงาภูเก็ต ระนอง และสตูล โดย น.ส.ตรีนุช เปิดเผยว่า จากการตรวจเยี่ยมการจัดการศึกษาในหลายพื้นที่พบว่ามีเด็กไม่ได้เรียนต่อหลังจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ (ม.) 3 และเข้าสู่ตลาดแรงงานไม่ได้เพราะอายุไม่ถึง 18 ปี ส่งผลให้คุณภาพชีวิตลดลงเนื่องจากไม่มีความรู้พื้นฐานอาชีพ ดังนั้น จึงได้กำหนดนโยบายให้ผู้จบชั้น ม.3 ได้เรียนต่อ 100 % ทั้งสายสามัญศึกษา และสายอาชีพ ซึ่งในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ในวันที่ 16 พ.ย.นี้ ศธ.จะเสนอโครงการ “อาชีวะสร้างโอกาสทางการศึกษาให้เยาวชน เพื่อผลิตกำลังคนของประเทศ” หรือ “อาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ” ของสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (สอศ.) ให้ที่ประชุมครม.พิจารณา
“โครงการของ สอศ.เป็นการช่วยเหลือนักเรียนในพื้นที่ห่างไกล ยากจน ขาดโอกาสทางการศึกษา ให้ได้รับโอกาสทางการศึกษามากขึ้น ในลักษณะโรงเรียนประจำ ผู้เรียนได้เรียนฟรี มีที่พัก พร้อมอาหาร โดยไม่มีค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ซึ่งในปีการศึกษา 2565 จะนำร่องที่ 6 จังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ได้แก่จังหวัดกระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง และสตูล ก่อนจากนั้นจะขยายโครงการไปในวิทยาลัยสังกัด สอศ.ทั่วประเทศ รวมถึงฝึกอบรม Upskill และ Reskill ให้เยาวชนด้วย มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 10 ปี ตั้งแต่ปีงบฯ 2566-2575 ทั้งนี้ ตั้งเป้าหมายว่าจะเพิ่มปริมาณผู้เรียนสายวิชาชีพได้ 31,200 คนต่อปี และ Upskill และ Reskill ได้ 65,000 คนต่อปี ใช้งบประมาณเฉลี่ย 1,200 ล้านบาทต่อปี” รมว.ศธ.กล่าว
น.ส.ตรีนุช กล่าวด้วยว่า สอศ.ได้รายงานความก้าวหน้านโยบายการจัดการศึกษาอาชีวศึกษาสู่ความเป็นเลิศ Excellent Center เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ที่เป็นหนึ่งในโยบายเร่งด่วน(Quick Win) ของ ศธ. ซึ่งทางวิทยาลัยเทคนิค(วท.)กระบี่ ได้ดำเนินการในสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชน พัฒนาปรับปรุงหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการกำลังคนกับสถานประกอบการ และเชื่อมโยงกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ใน 4 สาขางาน คือ สาขาชอฟต์แวร์และการประยุกต์ สาขาเครือข่ายคอมพิวเตอร์และความปลอดภัย สาขากราฟิกเกมและแอนิเมชัน และสาขาสมองกลฝังตัวและไอโอที (Internet of things) เน้นกระบวนการจัดการเรียนการสอน ที่สร้างระบบความคิด การพัฒนาทักษะให้นักเรียน นักศึกษาสามารถปฏิบัติงานได้จริง มีการประยุกต์ใช้รายวิชาในสาขางานสู่อาชีพในอุตสาหกรรมดิจิทัล
นอกจากนี้ วท.กระบี่ ได้เตรียมขยายผลในสาขาที่เป็นความต้องการกำลังคนในท้องถิ่นในสาขาวิชาอาหารและโภชนาการ การท่องเที่ยว การโรงแรม ช่างซ่อมบำรุงเรือยอร์ชและช่างอากาศยาน รวมถึงมีการจัดตั้งศูนย์ฝึกอาชีพและพัฒนาศักยภาพการเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในองค์กรหลักของ ศธ. และหน่วยงานการศึกษาในจังหวัด เพื่อขับเคลื่อนและเป็นศูนย์กลางการประสานงานระหว่างหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการเสริมสร้างทักษะอาชีพและการเป็นผู้ประกอบการ ให้แก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชนในจังหวัด โดยกำลังสำรวจความต้องการในการพัฒนาอาชีพ เพื่อนำไปสู่การฝึกอบรมและพัฒนาทักษะอาชีพได้ตรงตามความต้องการและบริบทที่แตกต่างกัน
ทั้งนี้ รมว.ศธ.ได้เยี่ยมชมศูนย์ฝึกอาชีพและพัฒนาศักยภาพการเป็นผู้ประกอบการSawasdee Plaza และ Sawasdee Cup (CAFE) ซึ่งเป็นศูนย์ปฏิบัติงานจริงในการจำหน่ายสินค้า และการให้บริการของ วท.กระบี่ โดยมีผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นผลผลิตจากการเรียนการสอนของวิทยาลัย วางจัดจำหน่าย เช่น โต๊ะไม้จากไม้หมาก แก้วสกรีนเครื่องดื่มค็อกเทล เป็นต้น และเยี่ยมให้กำลังใจศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน (Fix It Center) ในการให้บริการช่วยเหลือประชาชน โดยเปิดให้บริการซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าให้กับประชาชน ฝึกอบรมอาชีพระยะสั้น และการต่อยอดผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชนเพื่อเพิ่มมูลค่า สร้างงาน สร้างรายได้ ในสถานการณ์โควิด-19 ด้วย.