วันนี้ (12 พ.ย.) ที่กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยว่า จากการเดินทางมาร่วมประชุมสมัยสามัญของยูเนสโก ครั้งที่ 41 ณ สำนักงานใหญ่องค์การยูเนสโก กรุงปารีส Mr. Andreas Schleicher ผู้อำนวยการด้านการศึกษาและทักษะ องค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Cooperation and Development : OECD ) ได้เข้าพบตนเพื่อหารือถึงความร่วมมือระหว่างองค์การ OECD กับประเทศไทย โดยมีนายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นายศรัณย์ เจริญสุวรรณ เอกอัคราชทูต ณ กรุงปารีส นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ กรรมการในคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยยูเนสโก และนายปราโมทย์ ด้วงอิ่ม รองผู้แทนถาวรไทยประจำยูเนสโก ร่วมหารือด้วย
“ ในโอกาสนี้ดิฉันได้ของคุณ Mr. Andreas Schleicher ที่สนับสนุนการดำเนินงานด้านการวัดผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนไทยด้วยดีมาโดยตลอด สำหรับการดำเนินการพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะของกระทรวงศึกษาธิการไทย เป็นการดำเนินการที่มุ่งหวังในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเป็นหลัก และการปรับหลักสูตรครั้งนี้ ได้ดำเนินการทั้งระบบ รวมทั้งการวัดผลประเมินผลด้วยเช่นกัน โดยได้ดำเนินการในโรงเรียนนำร่องกว่า 300 โรง ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมในด้านหลักสูตรทางการศึกษาที่ตอบสนองต่อความถนัดและความสนใจของผู้เรียนเป็นรายบุคคล ซึ่งจะนำไปสู่แผนการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้ได้รับการพัฒนาศักยภาพในการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ต่อไป” รมว.ศธ.กล่าวและว่า ทั้งนี้ประเทศไทยยินดีที่จะพัฒนาความร่วมมือกับ OECD โดย Mr. Andreas Schleicher ยินดีที่จะทำงานร่วมกับประเทศไทย และจะหาภาคีเครือข่าย ตลอดจนยินดีนำประเด็นหารือครั้งนี้ ไปหารือยูนิเซฟและพัฒนาโครงการนำเสนอให้กระทรวงศึกษาธิการพิจารณาต่อไป
ด้าน Mr. Andreas Schleicher กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทย เป็นรองประธานในคณะกรรมการบริหารโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ (Programmed for International Student Assessment : PISA) และมีความร่วมมือเป็นอย่างดีกับ OECD มาโดยตลอด ทั้งนี้ OECD ขอแสดงความชื่นชมประเทศไทยที่กำลังดำเนินการปฏิรูปหลักสูตรเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ ซึ่ง OECD ยินดีที่จะสนับสนุนประเด็นดังกล่าว โดยเฉพาะการวัดผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน ที่จะช่วยส่งเสริมและพัฒนาผลทดสอบ PISA ของนักเรียนไทย นอกจากนี้ในปี 2565 หากประเทศไทยจะพิจารณารับเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการ PISA อาจจะเป็นโอกาสดี ที่จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีเพื่อส่งเสริมให้นักเรียนไทยมีระดับคะแนน PISA ที่ดีขึ้น.