เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.) เปิดเผยว่า สถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 1-5 จัดประชุมวิชาการเทคโนโลยีและนวัตกรรมอาชีวศึกษา ระดับชาติ ครั้งที่ 5 ระหว่างวันที่ 29 – 30 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา ผ่านระบบประชุมทางไกล (Video Conference) เพื่อการส่งเสริมสนับสนุนการสร้างผลงานวิชาการ และแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการของคณาจารย์ นักวิจัยและนักวิชาการ ทั้งยังเป็นการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการสู่สาธารณชน ตลอดจนสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการ และพัฒนาต่อยอดงานวิจัยอันนำไปสู่การพัฒนาประเทศ ในรูปแบบการนำเสนอบทความวิจัยภาคบรรยาย และภาคโปสเตอร์ที่ได้รับการ พิชญพิจารณ์ (Peer Review) คือการประเมินโดยบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีความชำนาญคล้ายกับผู้ผลิตผลงานนั้น เป็นระบบควบคุมกันเองโดยสมาชิกวิชาชีพที่มีคุณสมบัติความสามารถในสาขาที่เข้าประเด็นกัน เป็นวิธีที่ใช้เพื่อรักษามาตรฐานทางคุณภาพ เพื่อเพิ่มคุณภาพ และเพื่อให้เกิดความเชื่อถือในงานภายในกลุ่มนักวิชาการ เป็นวิธีการกำหนดว่างานวิชาการนั้นมีความเหมาะสมควรจะตีพิมพ์ เป็นเรื่องที่จัดหมวดหมู่ได้ตามชนิดของงานหรือตามอาชีพ จากผู้ทรงคุณวุฒิตามประกาศของคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) โดยมีบทความวิจัยภาคบรรยาย และโปสเตอร์ร่วมนำเสนอจำนวนทั้งสิ้น 177 บทความ
เลขาธิการกอศ. กล่าวว่า การประชุมวิชาการเทคโนโลยีและนวัตกรรมอาชีวศึกษา ระดับชาติ เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้แลกเปลี่ยนความรู้เทคโนโลยี และนวัตกรรมอาชีวศึกษา ทำให้เกิดการขับเคลื่อนการพัฒนาอาชีวศึกษาให้มีความก้าวหน้าในด้านการวิจัย คณาจารย์ นักวิจัย หรือผู้ที่สนใจทั่วไป สามารถนำไปพัฒนาหรือสร้างองค์ความรู้ใหม่ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยทำให้การศึกษา และงานวิจัยของประเทศมีความเข้มแข็งมากขึ้น ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สนับสนุนให้มีการวิจัย สร้างนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ และการจัดการองค์ความรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยกระดับสถาบันการอาชีวศึกษาทั้ง 23 แห่งทั่วประเทศ ในการจัดการอาชีวศึกษาปริญญาตรีสายเทคโนโลยีหรือ สายปฏิบัติการ เพื่อผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติของสถาบันการอาชีวศึกษา ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญของชาติในยุคประเทศไทย 4.0 ที่ต้องการทรัพยากรบุคคลที่เป็นคนดี คนเก่ง ที่มีความรู้ภาคทฤษฎี และมีความเชี่ยวชาญภาคปฏิบัติ ในการที่จะรังสรรค์ผลงานวิจัยและพัฒนา สร้างนวัตกรรมให้สังคมและ ประเทศชาติในส่วนรวม
โดยมีผลงานที่ได้รับรางวัล ดังนี้ ประเภทที่ 1. กลุ่มประสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมอาชีวศึกษา รางวัลชนะเลิศ จากสถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 1 โดยสำนักอาชีวศึกษาบัณฑิต บทความงานวิจัย “สร้างเรือต้นแบบเรือลอกตะกอนแบบตีกวนและดูดกลับ” เพื่อหาประสิทธิภาพต้นแบบเรือลอกตะกอนแบบตีกวนและดูดกลับ ขั้นตอนการดำเนินการวิจัยเริ่มจากการสร้างเรือ และศึกษาหาประสิทธิภาพการลอกตะกอน โดยทดสอบการลอกตะกอนจาก ระดับความลึกที่แตกต่างกัน 3 ระดับ 1.0, 1.5, และ 2.0 เมตร ใช้รอบเครื่องยนต์ที่ 1,500 1,750 และ 2,000 รอบต่อนาที ผลการวิจัย พบว่าเรือลอกตะกอนแบบตีกวนและดูดกลับมี ประสิทธิภาพ ที่ระดับความลึก 1.5 เมตร ความเร็วรอบเครื่องยนต์ที่ 1, 750 รอบต่อนาทีได้ตะกอนที่ 450 ลูกบาศก์เมตร ต่อชั่วโมง ซึ่งได้ตะกอนผ่านเกณฑ์ที่กำหนด 350 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง รองชนะเลิศอันดับ 1 จากสถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 3 โดยวิทยาลัยเทคนิคปราจีนบุรี บทความงานวิจัย “การพัฒนาโต๊ะคร่อมเตียงควบคุมแบบไร้สาย” รองชนะเลิศอันดับ 2 จากสถาบันการอาชีวศึกษาภาคตะวันออก โดยวิทยาลัยเทคนิคบ้านค่าย บทความงานวิจัย “การพัฒนาระบบสมาร์ทฟาร์มสำหรับการปลูกพืชไร้ดิน” รองชนะเลิศอันดับ 3 จากสถาบันการอาชีวศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 โดยวิทยาลัยอาชีวศึกษาขอนแก่น บทความงานวิจัย “การผลิตภัณฑ์โจ๊กข้าวกล้องหอมมะลิเสริมจิ้งหรีดผงกึ่งสำเร็จรูป”
ประเภทที่ 2. กลุ่มนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษา รางวัลชนะเลิศ จากสถาบันการอาชีวศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 โดยวิทยาลัยอาชีวศึกษามหาสารคาม บทความงานวิจัย “การพัฒนาสื่อโมชั่นกราฟฟิกเพื่อการเรียนรู้และป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ” เพื่อประเมิน คุณภาพของสื่อโมชั่นกราฟิกในการเรียนรู้และป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจตีบโดยผู้เชี่ยวชาญ และประเมินความคิดเห็นของ กลุ่มผู้สนใจที่มีต่อการพัฒนาสื่อโมชั่นกราฟิก วิธีดำเนินการวิจัย ได้แก่ 1) ศึกษากระบวนการและผลิตสื่อโมชั่นกราฟิกเพื่อการเรียนรู้และป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ 2) ประเมินคุณภาพสื่อโมชั่น กราฟิกเพื่อการเรียนรู้และป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจตีบจากผู้เชี่ยวชาญ และ 3) ประเมินความคิดเห็นของกลุ่มผู้สนใจที่มีต่อสื่อ โมชั่นกราฟิกเพื่อการเรียนรู้และป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ จำนวน 30 คน ผลการวิจัยพบว่าคุณภาพสื่อโดยรวมมีคุณภาพอยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ย 4.73 เมื่อพิจารณารายข้อ พบว่าผู้เชี่ยวชาญมีความคิดเห็นต่อคุณภาพสื่ออยู่ในระดับมากที่สุด ได้แก่ เนื้อหานำเสนอ ประกอบไปด้วย เรื่องโรคหลอดเลือดหัวใจตีบการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ อาหารสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และการป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ รองชนะเลิศอันดับ 1 จากสถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 3 โดยวิทยาลัยเทคนิคนครนายก บทความวิจัย “การหาคุณภาพชุดทดลองไมโครคอนโทรลเลอร์ Arduino Nano ประกอบการเรียนการสอนวิชาไมโครคอนโทรลเลอร์ รหัส 20105-2105 ด้วยการเรียนการสอนแบบ Active Learning” รองชนะเลิศอันดับ 2 จากสถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 5 โดยวิทยาลัยเทคนิคสมุทรสาคร บทความงานวิจัย “การพัฒนาชุดทดลองและหาประสิทธิภาพของการประยุกต์ใช้โปรแกรมเมเบิลลอจิกคอนโทรลเลอร์ในการควบคุมหุ่นยนต์สถานีการอัดลูกปืน” รองชนะเลิศอันดับ 3 จากสถาบันการอาชีวศึกษาภาคตะวันออก โดยวิทยาลัยเทคโนโลยีไออาร์พีซี บทความงานวิจัย “การศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษาด้วยชุดสาธิตเสมือนจริงเรื่องความสัมพันธ์ของการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากของไหล”
ประเภทที่ 3. กลุ่มนวัตกรรมการบริหารจัดการอาชีวศึกษา รางวัลชนะเลิศ จากสถาบันการอาชีวศึกษาภาคตะวันออก โดยสำนักอาชีวศึกษาบัณฑิต บทความงานวิจัย “การพัฒนาระบบบริหารจัดการเรียนรู้แบบยูเลิร์นนิ่ง สำหรับการอาชีวศึกษา” เพื่อประเมินความเหมาะสมระบบบริหารจัดการเรียนรู้แบบยูเลิร์นนิ่งสำหรับ การอาชีวศึกษา โดยมีกลุ่มเป้าหมายในการวิจัย ได้แก่ ผู้สอน ระดับปริญญาตรี สังกัดสถาบันการอาชีวศึกษาภาคตะวันออก จำนวนทั้งหมด 45 คน ผลการวิจัย พบว่าผลการประเมินความเหมาะสมระบบบริหารจัดการ เรียนรู้แบบยูเลิร์นนิ่ง สำหรับอาชีวศึกษาและฝึกอบรมของผู้เชี่ยวชาญ มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด สามารถนำไปใช้ในการบริหารจัดการเรียนรู้ในสถาบันการอาชีวศึกษาได้เป็นอย่างดี รองชนะเลิศอันดับ 1 จากสถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 3 โดยวิทยาลัยอาชีวศึกษาฉะเชิงเทรา บทความงานวิจัย “การพัฒนาการบริหารจัดการของผู้บริหารวิสาหกิจชุมชนในเขตจังหวัดฉะเชิงเทรา” รองชนะเลิศอันดับ 2 จากสถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 2 โดยวิทยาลัยเทคนิคลพบุรี บทความงานวิจัย “การศึกษาคุณลักษณะการเป็นผู้ประกอบการที่มีผลต่อความสำเร็จตามความคิดเห็น ของผู้ประกอบการธุรกิจและนักศึกษาหลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิตสถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง” รองชนะเลิศอันดับ 3 จากสถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 5 โดยวิทยาลัยการอาชีพบางสะพาน บทความงานวิจัย “คุณภาพผู้สำเร็จการศึกษาระบบทวิภาคีตรงความต้องการของสถานประกอบการ” ทั้งนี้สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://ncvet5.lbtech.ac.th/documentpdf/proceeding.pdf