เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2564 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 4 ปี 2564 และพระราชทานปาฐกถาพิเศษ เนื่องในการประชุมวิชาการระดับภูมิภาคเพื่อครูและความเสมอภาคทางการศึกษา ในหัวข้อ การทรงงานในการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และการพัฒนาครูและสถานศึกษาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ออนไลน์
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำรัสเนื่องในพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 4 ปี 2564 ว่า ขอแสดงความยินดีกับครูผู้ได้รับรางวัล ซึ่งถือครูผู้อุทิศตนที่ช่วยในการพัฒนาเด็กเยาวชนเพื่อให้ประเทศและภูมิภาคเรามีอนาคตที่ดีขึ้น และรู้สึกดีใจที่พิธีพระราชทานรางวัลในครั้งนี้จัดขึ้นพร้อมกับการประชุมวิชาการระดับภูมิภาคที่เน้นบทบาทที่สำคัญของครูที่จะสร้างการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งการพัฒนาคนรุ่นใหม่จะเป็นจริงได้อยู่ที่ครู เพราะครูต้องเผชิญกับความท้าทายในการสร้างการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้ใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ซึ่งเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้ช่วยให้เกิดการเรียนรู้แบบผสมผสาน (Blended Learning) แต่ครูยังเป็นปัจจัยสำคัญทำให้นักเรียนมีความพร้อมสำหรับอนาคต ทุกวันนี้ครูได้รับผิดชอบในการปรับตัวตามสถานการณ์ New Normal โดยครูต้องพยายามอย่างยิ่งเพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้อย่างต่อเนื่องในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย และมีสุขภาพความเป็นอยู่ที่ดี
นอกจากนี้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปาฐกถาพิเศษเนื่องในการประชุมวิชาการระดับภูมิภาคเพื่อครูและความเสมอภาคทางการศึกษา ในหัวข้อ การทรงงานในการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) และการพัฒนาครูและสถานศึกษาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่า ในสถานการณ์โควิด-19 พวกเราควรพยายามให้ความมั่นใจได้ว่านักเรียนมีสุขภาพที่ดีและปลอดภัย ในสถานการณ์เช่นนี้นักเรียนสามารถเรียนทางออนไลน์แต่อาจไม่สะดวกโดยเฉพาะนักเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล จึงอยากแลกเปลี่ยนกรณีองค์กรภาคประชาสังคมที่สามารถทำอะไรได้บ้าง เช่น การจัดหาถุงยังชีพ ในการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในภาคกลาง เดิมเป็นอุปกรณ์ยังชีพจึงมีแนวคิดว่าน่าจะมีแบบฝึกหัด อุปกรณ์การเรียนให้กับนักเรียน ซึ่งเรียกว่า ถุงยังชีพเพื่อการศึกษา โดยมีครู อาสาสมัคร และพระนำของเหล่านี้ให้กับนักเรียนที่บ้าน ในสถานการณ์โควิด-19 ข้าพเจ้าได้เพิ่มหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ แบบฝึกหัด สมุดให้กับนักเรียน รวมถึงการใช้ศาลากลางเปรียญเป็นศูนย์กลางกระจายอาหารเพื่อให้ครอบครัวไปรับ ในความคิดของข้าพเจ้า นักเรียนต้องได้รับสารอาหารครบ 5 หมู่ และได้รับสารไอโอดีนและธาตุเหล็กเพื่อดูแลสุขภาพในทุกช่วงวัย นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือกับหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียในการพัฒนาการศึกษา
“ แม้จะมีสถานการณ์โควิดแต่ชีวิตต้องดำเนินต่อไป และหลังจากสถานการณ์โควิด ชีวิตอาจจะไม่เหมือนเดิมไม่เฉพาะนักเรียนเท่านั้นแต่รวมถึงประชาชนควรจะต้องศึกษาหาความรู้และทักษะใหม่ ๆ ในการประกอบการอาชีพและในการศึกษาในยุค New Normal ข้าพเจ้าสังเกตว่ามีนวัตกรรมการเรียนรู้แบบใหม่เข้ามา หากเรายังไม่สามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ได้ เราควรใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมเหล่านี้ สิ่งสำคัญคือ เราควรจะต้องมีความคิดสร้างสรรค์ และเรียนรู้ที่จะใช้ประโยชน์จากสิ่งที่เราสร้างและประดิษฐ์ และจะใช้นวัตกรรมเหล่านั้นเพื่อพัฒนาสังคมต่อไป ที่สำคัญคือการหาวิธีเพื่อรักษาตัวเองและผู้อื่นให้ปลอดภัยจากโควิด-19 เราต้องปกป้องตนเองและผู้อื่น”
น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า การศึกษาทั่วโลกได้รับผลกระทบอย่างใหญ่หลวงจากสถานการณ์โควิด-19 และโรงเรียนต้องมีวิธีการจัดการในรูปแบบใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่เปลี่ยนไป จึงมีการนำวิธีการเรียนการสอน เช่น ออนแอร์ผ่านมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ออนไลน์ ออนไซต์ ออนดีมานด์ และออนแฮนด์ ทั้งนี้เราไม่อาจปล่อยให้โรงเรียนปิดต่อไปได้อีก กระทรวงศึกษาธิการได้วางแผนที่จะเปิดเรียนเต็มรูปแบบในเดือนพฤศจิกายน และได้มีการฉีดวัคซีนโควิด -19 ให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษา และครูทั่วประเทศแล้วเพื่อเตรียมพร้อมให้เปิดเรียนออนไซต์ได้อย่างปลอดภัย พร้อมการพัฒนาครูผู้สอนให้มีทักษะจำเป็นในการบรรลุศักยภาพสูงสุด ซึ่งเราเชื่อว่าครูคือหัวใจในการฟื้นฟูระบบการศึกษาและมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนทางสังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรม
ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กล่าวว่า รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เป็นรางวัลเพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติครูผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตลูกศิษย์ และมีคุณประโยชน์ต่อการศึกษาในประเทศอาเซียนและติมอร์ เลสเต รวม 11 ประเทศ ประเทศละ 1 รางวัล โดยจัดมอบรางวัลในทุก 2 ปี และเพื่อถวายเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เจ้าฟ้านักการศึกษา โดยรางวัลประกอบด้วย เหรียญรางวัล ประกาศนียบัตร โล่ เข็มเชิดชูเกียรติทองคำ และเงินรางวัล รางวัลละ 10,000 เหรียญสหรัฐ ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ จาก 11 ประเทศ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง
สำหรับครูผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ปี 2564 มีประวัติที่น่าสนใจดังนี้
- บรูไน ดารุสซาลาม เปองีรัน ฮาจี โมฮัมหมัด วาฮับ บิน เปองีรัน ฮาจี อับดุลละฮ์ เป็นอาจารย์สอนด้านการโรงแรมและการทำอาหาร วิทยาลัยด้านการโรงแรมและการท่องเที่ยว วิทยาเขตไอบีทีอี สุลต่านไซฟุล ไรจัล (IBTE Sultan Saiful Rijal Campus) งานร้านอาหาร การจัดเลี้ยง และการประกอบอาหารอย่างสร้างสรรค์
- กัมพูชา นายณอน ดารี สอนระดับประถมศึกษาที่โรงเรียน Quach Mengly Toulbeng, จังหวัด Kampong Cham ผู้ริเริ่มประยุกต์ใช้การบูรณาการเรียนการสอนหลากหลายวิธีการเพื่อมุ่งช่วยให้นักเรียนได้รับความรู้และทักษะสำคัญที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 และเน้นแนวทางการสอนโดยให้นักเรียนเป็นศูนย์กลาง
- อินโดนีเซีย น.ส.คอรีอิยะฮ์ สอนวิชาวิทยาศาสตร์โรงเรียนประถมศึกษา SMP Negeri 32 Bandar Lampung จังหวัดลำปุง นับเป็นครูผู้โดดเด่นด้านการสอนวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดการระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 ที่ครูได้จัดการผลิตสิ่งพิมพ์ด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์และเครื่องมือการเรียนรู้มากมายสำหรับโรงเรียนในอินโดนีเซีย
- สปป. ลาว นางแสงเพ็ด คูนปะเสิด หัวหน้าสาขาวิชาฟิสิกส์แห่งโรงเรียนมัธยมสมบูรณ์เทศบาลแขวงอุดมไซ ร่วมพัฒนาหลักสูตรการสอนวิชาฟิสิกส์สำหรับระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และเผยแพร่สื่อให้กับโรงเรียนอีก 14 โรง ในแขวงอุดมไซ รวมทั้งเป็นวิทยากรระดับจังหวัดในวิชาวิทยาศาสตร์และมีงานเขียนเอกสารทางวิชาการมากมาย
- เมียนมา นายจอร์ ซิน ออง ครูสอนวิชาภาษาอังกฤษ โรงเรียนมัธยมศึกษา Basic Education High School หมายเลข 8 ที่เมือง ล่าเสี้ยว (Lahio) ทางตอนเหนือของรัฐฉาน ครูผู้เป็นแบบอย่างและใช้การเรียนรู้จากประสบการณ์ร่วมกับนักเรียนเพื่อช่วยให้นักเรียนเรียนภาษาอังกฤษได้อย่างเข้าใจและสนุก
- มาเลเซีย นายโนร์ฮาอิลมี อับดุล มูตาลิบ ครูสอนวิทยาศาสตร์ที่โรงเรียนมัธยมศึกษา SMK Jerlun ในรัฐเคดาห์ ผู้เป็นต้นแบบขยายประสบการณ์การสอน อย่างสร้างสรรค์ในวิชาสะเต็มศึกษา ระดับประเทศและแนวทางการเรียนรู้สำหรับศตวรรษที่ 21 ทั้งยังบูรณาการเทคโนโลยีดิจิทัลและเครือข่ายสังคมออนไลน์มาประยุกต์ใช้กับการสอนของตนเอง
- ฟิลิปปินส์ นายมาเซโล ที โอทินเควท ครูใหญ่ของโรงเรียน Governor Bado Dangwa Agro-Industrial School ในเมืองกะพันกัน (Kapangan) จังหวัดเบงเก็ต (Benguet) ผู้ดำเนินชีวิตภายใต้ปรัชญา “ชีวิตคือการให้บริการ” เป็นผู้นำในการริเริ่มโครงการพัฒนาโรงเรียนและชุมชนต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่
- สิงคโปร์ นายหยก จูน เม็ง หัวหน้าภาควิชาภาษาอังกฤษและสังคม โรงเรียนประถมศึกษาหยูเหิง โดยนำ ICT เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ บูรณาการการคิดและวิเคราะห์ การใช้ Coding และมีการทำแผนภาพการใช้ ICT บูรณาการกับโครงการต่าง ๆ ของโรงเรียน
- เวียดนาม น.ส.ฮ่า หัน เฟื่อง ครูสอนวิชาภาษาอังกฤษที่โรงเรียนมัธยมศึกษา Huong Can จังหวัด Phu Tho พัฒนาการเรียนการสอนแบบห้องเรียนไร้พรมแดนให้เด็กนักเรียนบนพื้นที่สูงและเด็กชนเผ่า และบูรณาการวิชาภาษาอังกฤษเข้าไปในการเรียนการสอน เชื่อมโยงกับสังคมยุคใหม่ด้วยแนวคิดการเป็นพลเมืองโลก
- ประเทศไทย น.ส.ประทิน เลี่ยนจำรูญ ครูอาชีวศึกษาผู้สอนวิชาการตลาดและเศรษฐศาสตร์ ระดับ ปวช.วิทยาลัยเทคนิคพังงา จังหวัดพังงา มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านการเขียนแผนธุรกิจ เป็นที่ปรึกษาธุรกิจของผู้เรียนอาชีวศึกษาได้รับรางวัลระดับประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการ “บางพัฒน์โฮมสเตย์” ที่ดำเนินการประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน
- ติมอร์-เลสเต นายวินเซ็นเต มาร์กัล ดา ซิลวา ครูใหญ่ของโรงเรียน Ensino Central Tirilolo Baucau ตลอดอาชีพการงานของครูใหญ่วินเซ็นเต ได้มีส่วนร่วมสำคัญในหลายโครงการที่ส่งเสริมการศึกษาในติมอร์-เลสเต