เมื่อวันที่ 28 ต.ค.2564 ที่อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ พร้อมด้วย ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.)นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และ นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย ได้ร่วมกันแถลงข่าว “การเตรียมความพร้อมเปิดเรียนภาคที่ 2 ปีการศึกษา 2564 ในวันที่ 1 พ.ย.2564 ของสถานศึกษาในสังกัด ศธ. โดย น.ส.ตรีนุช  กล่าวว่า ศธ.ได้ออกประกาศ ศธ. เรื่อง หลักเกณฑ์การเปิดโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 34 ) เพื่อกำกับดูแลและเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่นักเรียน ครู และประชาชนทั่วไป ว่า โรงเรียนและสถาบันการศึกษา สามารถดำเนินกิจกรรมได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ตามแนวการเปิดภาคเรียนที่ 2/2546 ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (โควิด-19)

น.ส.ตรีนุช กล่าวว่า  ประกาศ ศธ.ฉบับนี้ได้กำหนดหลักเกณฑ์การเปิดโรงเรียนหรือสถานศึกษา เงื่อนไขของมาตรการ แนวปฏิบัติ แผนเผชิญเหตุ และรายละเอียดต่างๆระบุไว้อย่างชัดเจน โดยมีสาระสำคัญ 5 ส่วน ดังนี้ ส่วนที่ 1 เงื่อนไขหลักของมาตรการ Sandbox Safety Zone in School (SSS) รองรับการเปิดภาคการศึกษาที่ 2/2564 โดยจัดการเรียนการสอนในสถานศึกษาแบบ on site จำแนกตามเขตพื้นที่การแพร่ระบาดของ โรคโควิด-19 ส่วนที่ 2 ดำเนินการตามเงื่อนไขข้อกำหนดของ 6 มาตรการหลัก 6 มาตรการเสริม  และแนวทาง 7 มาตรการเข้มสำหรับสถานศึกษา (ประเภทไป-กลับ) ส่วนที่ 3 หลักเกณฑ์การพิจารณาสำหรับการใช้อาคารหรือสถานที่เพื่อจัดการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรม หรือการทำกิจกรรมใด ๆ ของโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) หรือ พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) ส่วนที่ 4 มาตรการตามแผนเผชิญเหตุตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของสถานศึกษา และ ส่วนที่ 5 หลักเกณฑ์การพิจารณาสำหรับการใช้อาคารหรือสถานที่ของโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา เพื่อการสอบ การฝึกอบรม หรือ การทำกิจกรรมใดๆ ที่มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้  ในการเปิดเรียนแบบ On Site โรงเรียน หรือ สถานศึกษาต้องผ่านการประเมินความพร้อมผ่าน Thai Stop Covid Plus (TSC+) และรายงานการติดตามการประเมินผลผ่าน MOECOVID โดยถือปฏิบัติอย่างเข้มข้น ต่อเนื่อง, ครูและบุคลากร ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) หรือ พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) ต้องได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ร้อยละ 85 ขึ้นไป สำหรับครูและบุคลากรในพื้นที่อื่น ๆ ต้องได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 ร้อยละ 85 ขึ้นไป ส่วนนักเรียนไม่มีกำหนด แต่ ศธ.ได้รณรงค์ทำความเข้าใจให้นักเรียนเข้ารับการฉีดวัคซีนมากที่สุด เพื่อความปลอดภัยของนักเรียนและผู้ปกครอง

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวอีกว่า สำหรับสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) มีโรงเรียนทั้งหมด 9,120 แห่ง แบ่งเป็น โรงเรียนประเภทสามัญศึกษา 3,756 แห่ง โรงเรียนนานาชาติ 226 แห่ง และมีโรงเรียนนอกระบบกว่า 5,100 แห่ง โรงเรียนเอกชนได้รับอนุญาตให้เปิด On Site ดังนี้ โรงเรียนประเภทสามัญ 309 แห่ง โรงเรียนนานาชาติ 103 แห่ง และโรงเรียนนอกระบบ 203 แห่ง รวม 615 แห่ง และอยู่ระหว่างขออนุญาตจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด 313 แห่ง  สำหรับสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ที่ดูแลผู้เรียนกว่า 850,000 คน การจัดการเรียนสอนว่าจะจัดการเรียนการสอนรูปแบบไหนนั้น ขึ้นอยู่กับพื้นที่บริหารจัดการทั้งนี้ต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดด้วย

“โรงเรียน สามารถจัดการเรียนการสอน ได้ทั้งรูปแบบ On Site หรือ On Line หรือ แบบผสมผสาน (Hybrid) ,นักเรียน ครู และบุคลากร ทุกคนต้องประเมิน Thai Save Thai (TST) ตามเกณฑ์จำแนกตามเขตพื้นที่การแพร่ระบาด, มีการสุ่มตรวจคัดกรองหาเชื้อ (ATK) ทั้งนักเรียน ครู และบุคลากร เพื่อเฝ้าระวัง ,มีการปฏิบัติตามมาตรการสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเข้มข้น , ทำกิจกรรมร่วมกันในรูปแบบ Small Bubble หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมข้ามกลุ่มกัน และจัดนักเรียนในห้องเรียนขนาดปกติ ไม่เกิน 25 คน หรือ จัดให้เว้นระยะห่างระหว่างนักเรียนในห้องเรียนไม่น้อยกว่า 1.5 เมตร  ตลอดจนมีสถานที่แยกกักตัวในโรงเรียน หรือ พื้นที่แยกกักชั่วคราว รวมไปถึงแผนเผชิญเหตุสำหรับรองรับการดูแลรักษาเบื้องต้นกรณีนักเรียน ครู หรือบุคลากรในสถานศึกษากรณีมีการติดเชื้อโควิด-19 หรือ ผลตรวจคัดกรองหาเชื้อเป็นบวก โดยมีการซักซ้อมอย่างเคร่งครัด และ ควบคุมดูแลการเดินทางกรณีมีการเข้าและออกจากสถานศึกษาอย่างเข้มข้น โดยหลีกเลี่ยงการเข้าไปสัมผัสในพื้นที่ต่างๆ ตลอดเส้นทางการเดินทาง ทั้งนี้ มาตรการและแนวทางต่างๆจะปรับตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค ขึ้นกับคณะกรรมการควบคุมโรคจังหวัด หรือ คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครกำหนด”น.ส.ตรีนุช กล่าว

ดร.สุภัทร  กล่าวว่า จากข้อมูลวันที่  26 ต.ค.ที่ผ่านมา การฉีดวัคซีนให้ครูและบุคลากรทางการศึกษา ในสังกัด ศธ. มีดังนั้น ฉีดเข็มที่ 1 จำนวน 782,010 ราย แบ่งเป็น ครู 576,748 ราย บุคลากร 205,262 ราย ฉีดเข็มที่ 2 จำนวน 522,133 ราย แบ่งเป็น ครู 363,749 ราย บุคลากร 158,384 ราย ยังไม่ได้รับวัคซีน 112,377 ราย แบ่งเป็น ครู 88,735 ราย บุคลากร 23,642 ราย ส่วนภาพรวมจำนวนนักเรียนที่ฉีดวัคซีน จากข้อมูลวันที่ 27 ตุลาคม มีดังนี้ นักเรียนประสงค์ฉีดวัคซีน 3,817,727 ราย ฉีดวัคซีนแล้ว 2,544,267 ราย คิดเป็น 66.64%

ดร.อัมพร กล่าวว่า สพฐ.มีครูและบุคลากรทางการศึกษาประมาณ 4 แสนคน มีนักเรียนที่ต้องดูแลกว่า 5 ล้านคน การเปิดเรียนนั้น สพฐ.จะใช้โรงเรียนเป็นฐานในการประเมินสถานการณ์ว่าโรงเรียนไหนะจะเปิดเรียน On Site ได้หรือไม่ได้ โดยมีเป้าหมายว่าทำอย่างไรให้โรงเรียนมีความปลอดภัย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ปกครอง อย่างไรก็ตาม จากการทำงานตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา สพฐ.จะมุ่งไปที่การเตรียมความพร้อมของโรงเรียนเด็ก และบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งวันที่ 1 พฤศจิกายนจะเป็นการเปิดเรียนพร้อมกันทั่วประเทศ ส่วนจะเรียน On Site ได้หรือไม่ โรงเรียนต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดก่อน

เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า แม้ว่าโรงเรียนจะเปิดเรียนรูปแบบ On Site แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะบังคับให้นักเรียนทุกคนมาเรียนในโรงเรียน การมาเรียนในโรงเรียนขึ้นอยู่กับความสมัครใจของนักเรียนและผู้ปกครอง นักเรียนคนใดไม่ต้องการมาโรงเรียน โรงเรียนก็จะการศึกษารูปแบบอื่นให้ อย่างไรก็ตาม  จากการรวบรวมข้อมูลมีโรงเรียนเสนอให้คณะกรรมการโรติดต่อจังหวัดพิจารณาอนุมัติเปิดเรียน On Site ประมาณ 80% แล้ว แต่ได้รับการอนุมัติให้เปิดเรียน On Site ประมาณ 12,000 แห่ง ส่วนกิจกรรมที่จะทำในโรงเรียน เช่น กีฬา การเข้าค่าย ถ้าสุ่มเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ ขอให้เลือกที่จำเป็นจริงๆ และจำนวนนักเรียนเข้าห้องเรียนต้องไม่เกิน 25 คน ดังนั้นการดำเนินการต่างๆ ขอให้โรงเรียนยึดความปลอดภัยของนักเรียนเป็นหลัก

ดร.สุเทพ  กล่าวว่า สอศ.ได้จัดทำ แนวทางการจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19  ในสถานศึกษา ภาคเรียนที่ 2/2564 เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติสำหรับสถานศึกษาในการจัดการศึกษา ในสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ ได้อย่างปลอดภัย  ทั้งนี้ แต่ละสถานศึกษา สามารถนำแนวทางปฏิบัติฯ ไปปรับใช้ตามบริบทสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่กลุ่มเป้าหมาย ตลอดจนความเชื่อแต่ละศาสนาและวัฒนธรรม เพื่อให้สอดคล้องและเกิดประโยชน์สูงสุด ส่วนการเปิดเรียนในกรณีที่สถานศึกษาใช้รูปแบบ On Site และรูปแบบการเรียนแบบผสมผสาน สามารถนำเนินการได้หลายกรณี เช่น เปิดการเรียนการสอน ในแบบปกติ (วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.00-16.30 น.)  หรือ เรียนแบบสลับสัปดาห์เรียน (เข้าเรียน 1 สัปดาห์ หยุดเรียน 1 สัปดาห์) หรือแบบสลับเวลาเรียน (ช่วงเช้า , ช่วงบ่าย)  หรือ แบบสลับวันเรียน (เรียนแบบวันเว้นวัน) , (วันคู่ วันคี่) ซึ่งสถานศึกษาสามารถปรับใช้ได้ตามสถานการณ์

นพ.โอภาส กล่าวว่า การฉีดวัคซีน เป็นกลไกหนึ่งที่ทำให้เราสามารถอยู่กับโควิด-19 ได้ เพราะวัคซีนสามารถป้องกันการป่วยหนัก ป้องกันการเสียชีวิตได้ดี ดังนั้นถ้าเด็กได้รับวัคซีนแม้จะติดเชื้อแต่จะช่วยลดโอกาสในการเสียชีวิต จากข้อมูลขณะนี้ทราบวันมีผู้ปกครองทยอยแจ้งความประสงค์ให้นักเรียนฉีดวัคซีนเพิ่มเติมกว่า 500,000 คน เป็นหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่จะจัดหาวัคซีนให้นักเรียนต่อไป ส่วนประเด็นที่ผู้ปกครองกังวลใจถึงผลข้างเคียงการฉีดวัคซีนอาจจะเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ซึ่งผลข้างเคียงนี้สามารถเกิดขึ้นได้ แต่โอกาสที่เกิดมีน้อย และรักษาหายได้ ส่วนเด็กอายุ 3-11 ขวบ จากข้อมูลล่าสุดเท่าที่ทราบ มีหลายประเทศเริ่มฉีดวัคซีนให้เด็กประถมศึกษาแล้ว ขณะนี้ สธ.อยู่ระหว่างเร่งให้บริษัทที่เกี่ยวข้องมาขึ้นทะเบียนวัคซีนกับสำนักงานคณะกรรมกาอาหารและยา (อย.) หาก อย.อนุญาตให้ฉีดวัคซีนในเด็กประถมได้ ก็จะจัดเตรียมวัคซีนฉีดเด็กทันที เชื่อว่าอีกไม่นานจะสามารถดำเนินการฉีดให้เด็กได้

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ขอย้ำว่าเมื่อเปิดเรียนแล้ว โอกาสติดเชื้อในโรงเรียนมีแน่นอน ขออย่ากังวลในส่วนนี้ เพราะเมื่อเปิดเรียนแล้วทาง ศธ..และสธ. มีมาตรการสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ และที่ผ่านมา 2 ปี ไม่เคยมีการระบาดใหญ่ในโรงเรียนแล้วกระจายสู่ชุมชนอย่างกว้างขวาง เพราะนักเรียนจะอยู่ในพื้นที่ของตัวเอง ไม่ได้เคลื่อนย้ายไปอย่างรวดเร็วจนทำให้เชื้อแพร่กระจายได้ ดังนั้น อย่าไปนั่งนับว่าโรงเรียนจะมีการติดเชื้อกี่แห่งหลังจากเปิดเรียนแล้ว ไม่ได้ช่วยอะไร เพราะเมื่อเกิดการติดเชื้อแล้วสถานศึกษาสามารถควบคุมได้

ด้าน นพ.สราวุฒิ กล่าวว่า ขอให้โรงเรียนดำเนินการตาม 6 มาตรการหลัก 6 มาตรการเสริม  และแนวทาง 7 มาตรการเข้มสำหรับสถานศึกษา (ประเภทไป-กลับ) สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญมาก ขอให้โรงเรียนนำไปปฏิบัติเพื่อสร้างความปลอดภัยให้นักเรียนต่อไป ส่วนการใช้ ATK สุ่มตรวจนักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษาเพื่อเฝ้าระวังนั้น คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดจะเป็นผู้พิจารณาในการใช้ ATK กับสถานศึกษา เบื้องต้นจะทำการสุ่มตรวจในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาด คือพื้นที่สีแดงเข้ม และพื้นที่สีแดง โดยจะสุ่มตรวจประมาณ 20% ขอนักเรียน ครู และบุลากรทางการศึกษา

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments