เมื่อวันที่ 23ตุลาคม 2564 น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ นายสุทธิชัย จรูญเนตร ที่ปรึกษา รมว.ศึกษาธิการ พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการเตรียมการเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่จังหวัดตรัง
น.ส.ตรีนุช กล่าวภายหลังการตรวจเยี่ยมและรับฟังข้อมูลในพื้นที่ ว่า จากการรับฟังรายงานภาพรวมของจังหวัดตรัง ทราบว่า ครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับการฉีดวัคซีนเกือบครบ 100%แล้ว ส่วนนักเรียนอายุ 12-18 ปีที่ประสงค์จะฉีดวัคซีนก็จะได้รับเข็มแรกครบทุกคนภายในเดือนนี้ซึ่งเป็นไปตามแผนที่กำหนด จากนั้นก็จะเริ่มฉีดเข็มสองประมาณปลายเดือนตุลาคม และจะครบภายในเดือนพฤศจิกายน ส่วนการเปิดภาคเรียนที่ 2/2564 ก็จะเปิดวันที่ 1 พฤศจิกายน ตามกำหนด แต่การเปิดแบบOnsite ของจังหวัดตรังตามแผนจะเปิดวันที่ 15 พฤศจิกายน โดยเป็นไปตามแผนการเปิดภาคเรียนที่ 2/2564 ของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด19) หรือ ศบค. ที่มีเงื่อนไข 5 ข้อ สำหรับระดับมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา คือ 1.การปฎิบัติตามมาตรการกระทรวงศึกษาธิการฉบับที่ 32 มาตรการหลัก + มาตรการเสริม + มาตรการเข้ม 2.ประกาศกระทรวงสาธารณสุขมาตรการ DMHT-RT 3.ครูและบุคลากรต้องได้รับวัคซีน 100% 4.นักเรียนต้องได้รับวัคซีนครบสองเข็ม 85% และ 5. ผู้อาศัยในครอบครัว(กลุ่ม608)ต้องได้รับวัคซีนครบทุกคน ส่วนระดับประถมศึกษาโดยเฉพาะเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปี การเปิดOnsite จะรอการพิจารณาจากคณะกรรมการควบคุมโรคของจังหวัดก่อน โดยในระหว่างที่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้เปิด Onsite ก็ให้ใช้รูปแบบการเรียนสอนอีก 4 ออนไปพลางก่อนโดยเลือกใช้ตามความเหมาะสมและบริบทของแต่ละโรงเรียน
“อย่างไรก็ตามในกรณีของเด็กเล็กโดยเฉพาะเด็กที่ต่ำกว่า ป.4 หากยังไม่สามารถให้มาเรียน Onsiteได้ก็อยากให้ดูแลการเรียนการสอนที่มีความยืดหยุ่น ไม่อยากให้เด็กอยู่หน้าจอมากเกินไป ถ้าเป็นไปได้อยากให้หาจุดสมดุลที่ไม่ต้องนั่งจ้องแต่หน้าจอ อยากให้เน้นการสอนทักษะชีวิตหรือให้เด็กทำเป็นโปรเจกต์มากกว่า หรือหากจำเป็นต้องให้เรียนออนไลน์จริงๆก็อยู่หน้าจอน้อยที่สุด แม้แต่เด็กโตในช่วงเปิดภาคเรียน Onsite 1-2 สัปดาห์แรกก็ไม่อยากให้เน้นวิชาการมากเกินไป เพราะเด็กห่างจากการเรียน Onsite มานาน อยากให้มีเรื่องของการปรับตัวก่อน เพื่อให้เด็กเรียนอย่างมีความสุข”รมว.ศึกษาธิการ กล่าว
ด้านนายปรีดี เกตุทอง ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคตรัง และประธานอาชีวศึกษาจังหวัดตรัง กล่าวว่า สำหรับการเรียนอาชีวศึกษาซึ่งเน้นในด้านปฏิบัติ ที่เป็นหัวใจสำคัญของการเรียนการสอนในสถานศึกษา ได้จัดวางรูปแบบแนวทางการดำเนินการเตรียมความพร้อมของการเปิดเรียน Onsite ในสถานศึกษา จะจัดผู้เรียน สลับสับเปลี่ยนการเรียนเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 20 คน ส่วนการฝึกปฏิบัติในสถานประกอบการซึ่งเป็นการเรียนตามหลักสูตรอาชีวศึกษาทวิภาคี จะต้องได้รับความยินยอมจาก สถานประกอบการ ผู้ปกครอง อย่างไรก็ตามสถานศึกษาได้เตรียมแผนเผชิญเหตุ หากเกิดเหตุการณ์ในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 สถานศึกษาจะมอบหมายงานให้ดำเนินการจัดการเรียนเป็นโครงงาน เพื่อให้การเรียนเป็นไปตามหลักสูตร และการประเมินผลการเรียนเมื่อครบ 2 ภาคเรียน รวมถึงให้มีการตรวจด้วยชุดตรวจ ATK ด้วย