น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้จัดทำโครงการที่เรียกว่ากระบวนการประเมินแบบเร่งด่วน (Rapid Appraisal) เพื่อทำให้ทราบถึงปัญหาอุปสรรคของการปฏิบัติจริงในพื้นที่ที่สะท้อนถึงนโยบายต่าง ๆ ของ ศธ. ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งการเก็บข้อมูลครั้งที่ 2 นี้ กระทรวงศึกษาธิการต้องการทราบสภาพปัญหา อุปสรรค และความต้องการของการเปิดเรียนแบบ On-Siteเพื่อเตรียมความพร้อมการเปิดโรงเรียนอย่างปลอดภัยในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งจะช่วยให้สามารถวางแผนและหาวิธีการในการเปิดเรียนอย่างปลอดภัยมากที่สุดและเป็นการเรียนรู้ที่มีคุณภาพมากที่สุด
รมว.ศธ. กล่าวต่อไปว่า ข้อมูลและรายงานผลการประเมินตามข้อมูล รอบที่ 2 จากนักเรียน ผู้ปกครอง และครู ต่อการเปิดเรียนแบบ On-Siteสะท้อนว่า ผู้เรียนต้องการให้เปิดเรียนแบบ On-Site เป็นจำนวนร้อยละ 94 โดยความพร้อมของผู้เรียนสำหรับการเปิดเรียนแบบ On-Site อยู่ในระดับมากถึงมากที่สุด ซึ่งผู้เรียนส่วนมากต้องการให้มีการสลับวันมาเรียนเพื่อลดจำนวนเพื่อนร่วมชั้นและจัดห้องเรียนโดยเว้นระยะห่าง และให้มีการผสมผสานการเรียนทั้งแบบ Online และ On-Site ตลอดจนให้ลดการจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่ม รวมถึงมีความต้องการในเรื่องของการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 การจัดเตรียมเจลแอลกอฮอล์สำหรับล้างมือ การจัดหาหน้ากากอนามัย ชุดตรวจโควิด-19 และเครื่องวัดอุณหภูมิที่โรงเรียนด้วย
และผู้ปกครองต้องการให้เปิดเรียนแบบ On-Site เป็นจำนวนร้อยละ 90 เพราะต้องการให้บุตรหลานได้เรียนรู้อย่างเต็มที่และได้ลงมือปฏิบัติจริง เพื่อลดภาระผู้ปกครองที่ต้องดูแลบุตรหลานในการเรียน Online โดยให้มีการสลับวันมาเรียนเพื่อลดจำนวนผู้เรียนในชั้นเรียน ลดการจัดกิจกรรมที่รวมกลุ่มเพื่อรักษาระยะห่าง มีการผสมผสานการเรียนทั้งแบบ Online และ On-Site และสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้เรียนเกี่ยวกับการป้องกันตนเองจากโควิด-19 ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเคร่งครัด แต่ยังคงมีความกังวลในเรื่องของการเปิดเรียนแบบ On-Site อยู่ในระดับปานกลางถึงมาก ในเรื่องของการดูแลตนเองของบุตรหลาน การเตรียมความพร้อมของสถานศึกษาตามมาตรการการป้องกันโควิด-19 รวมไปถึงรูปแบบการจัดการเรียนการสอนของสถานศึกษา ปัญหาการเดินทางและค่าใช้จ่ายด้วย
นอกจากนี้ ครูต้องการให้เปิดเรียนแบบ On-Site เป็นจำนวนร้อยละ 88 โดยมีความพร้อมในด้านการจัดการเรียนสอนแบบ On-Site อยู่ในระดับมากถึงมากที่สุด และในด้านการดูแลผู้เรียนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ในสถานศึกษา อยู่ในระดับมากถึงมากที่สุด โดยครูมีความคิดเห็นว่า การเปิดเรียนแบบ On-Siteสามารถทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างเต็มที่และลงมือปฏิบัติได้จริง และครูสามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างครบถ้วนตามหลักสูตร แต่ยังคงมีความกังวลด้านการจัดการเรียนการสอน เรื่องความพร้อมของผู้เรียนที่ต้องปรับตัวจากการเรียน Online และความต่อเนื่องของการจัดการเรียนการสอนจากการเรียน Online ความกังวลในเรื่องของสื่อการเรียนการสอนที่ไม่ใช้มาเป็นเวลานานซึ่งอาจไม่พร้อมใช้งาน เช่น เครื่องมือในห้องวิทยาศาสตร์ รวมไปมาตรการการป้องกันโควิด-19 ของสถานศึกษา การรวมกลุ่มของผู้เรียน และการรับวัคซีนของครูและนักเรียนบางส่วนที่ยังไม่ได้รับวัควีนด้วย ทั้งนี้ ครูส่วนใหญ่ยังต้องการให้มีการสนับสนุนสื่อการเรียนการสอนและอุปกรณ์เทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ทันสมัย เพื่อใช้ในการจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสม และต้องการให้มีการสนับสนุนงบประมาณในการจัดซื้ออุปกรณ์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสถานศึกษา และมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำสถานศึกษาด้วย ซึ่งการเปิดเรียนต้องดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด
“ขณะนี้ดิฉันได้รับทราบข้อมูลตามโครงการการประเมินแบบเร่งด่วน (Rapid Appraisal) ครั้งที่ 2 จากอาสาสมัครครูนักประเมิน (Rapid Appraisal Volunteer : RAV) ที่ได้เก็บข้อมูลที่เกิดขึ้นในพื้นที่อย่างรวดเร็วผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์มาก สามารถสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการ ความพร้อม และความกังวลต่อการเปิดเรียนแบบ On-Site ของนักเรียน ครู และผู้ปกครอง หากต้องมีการเปิดการเรียนการสอนในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ได้อย่างชัดเจนและเชื่อถือได้ ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการเองก็ได้ให้ความสำคัญมากในเรื่องของความปลอดภัยในสถานศึกษาก่อนเปิดภาคเรียน ซึ่งดิฉันก็ได้แต่งตั้งคณะกรรมการที่ดูแลในเรื่องSandbox Safety Zone in School (SSS) ซึ่งเป็นมาตรการเปิดเรียนมั่นใจปลอดภัยไร้โควิด-19 โดยได้เริ่มทดลองนำร่องในสถานศึกษาหลายแห่ง ซึ่งก็ได้ผลตอบรับเป็นที่น่าพอใจ นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการฉีดวัคซีนนักเรียน เพื่อสร้างความปลอดภัยแก่ผู้เรียน และสร้างความเชื่อมั่นกับพ่อแม่ผู้ปกครอง ซึ่งโรงเรียนก็ต้องมีการดำเนินการตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัดอีกด้วย ทั้งนี้ ขอขอบคุณอาสาสมัครครูนักประเมินทุกท่านที่ได้เสียสละเวลาและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการศึกษากับกระทรวงศึกษาธิการ โดยหลังจากนี้ จะนำข้อมูลที่ได้รับไปวางแผนการเปิดโรงเรียนอย่างปลอดภัยและการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพด้วยความรอบคอบที่สุด” น.ส.ตรีนุช กล่าว