เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2564  ที่ห้องจันทรเกษม อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ ฐานะประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาจัดทำและพัฒนา(ร่าง)หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ…..(หลักสูตรฐานสมรรถนะ) เป็นประธานเปิด “โครงการนำร่องการใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา”  พร้อมเปิดตัวเว็บไซต์ CBCthailand.com (Competency – based Education) ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับหลักสูตรฐานสมรรถนะ  โดยมี ดร.สิริกร มณีรินทร์ ประธานคณะกรรมการจัดทำและพัฒนากรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.)  รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ  ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เข้าร่วม

โดย น.ส.ตรีนุช เทียนทอง กล่าวในการเป็นประธานเปิดโครงการ ว่า ตนได้เข้ามารับหน้าที่เป็น รมว.ศธ.และได้แถลง 12 นโยบายด้านการจัดการศึกษา และ 7 วาระเร่งด่วน (Quick Win) ของ ศธ.ซึ่งเรื่องการปรับปรุงหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ให้ทันสมัย สู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 และเหมาะสมกับบริบทของสังคมไทยครอบคลุมการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัยไปจนถึงระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับยุทธศาสตร์ชาติ และแผนการปฏิรูปประเทศ (Big ROCK) ด้านการศึกษาการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นอีกก้าวหนึ่งในการปฏิรูปการศึกษา ที่มุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และปฏิรูประบบการศึกษา ให้มีประสิทธิภาพ สามารถรองรับความหลากหลายของการจัดการศึกษาและตอบโจทย์การพัฒนาของโลกอนาคต โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้เรียนทุกกลุ่มวัยได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน มีทักษะที่จำเป็นของโลกอนาคต สามารถแก้ปัญหา ปรับตัว สื่อสาร และทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิผล มีวินัย มีนิสัยใฝ่เรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต และเป็นพลเมืองที่รู้สิทธิและหน้าที่ มีความรับผิดชอบ มีจิตสาธารณะ มีความรักความภาคภูมิใจในความเป็นไทย และรู้คุณค่าของประวัติศาสตร์

“ วันนี้การเปิดโครงการนำร่องการใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จำนวน 265 โรงเรียน ใน 8 จังหวัด ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมด้านหลักสูตรการศึกษาที่ยืดหยุ่น ตอบสนองต่อความถนัดและความสนใจของผู้เรียนรายบุคคล ซึ่งจะนำไปสู่แผนการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้ได้รับการพัฒนาศักยภาพในการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning และแผนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป ซึ่งดิฉันหวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการในวันนี้จะมีส่วนช่วยเปลี่ยนผ่านการศึกษาแบบเดิม ไปสู่การพัฒนาศักยภาพของผู้เรียน เปลี่ยน ‘ห้องเรียน’ เป็น  ‘ห้องเรียนรู้’ ที่ผู้เรียนเข้าใจ ทำเป็น เห็นผลลัพธ์ และเด็กทุกคนมีโอกาสในการค้นพบเป้าหมายของตนเอง นำไปสู่ความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป” รมว.ศธ.กล่าว

ด้าน ดร.อัมพร พินะสา กล่าวว่า จากสถานการณ์ของโลกในศตวรรษที่ 21 วิทยาการต่างๆ มีความเจริญก้าวหน้าและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมทั้งแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา(ฉบับปรับปรุง) ที่กำหนดให้กิจกรรมปฏิรูปที่ 2 การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ ซึ่งมีเป้าหมายให้ผู้เรียนทุกระดับเป็นผู้มีความรู้ ทักษะ และใฝ่เรียนรู้ มีทักษะในการดำรงชีวิตในโลกยุคใหม่ รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมและโลก เป็นพลเมืองที่ตื่นรู้ มีความรับผิดชอบ และมีจิต สาธารณะ โดย สพฐ.ได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพัฒนา (ร่าง) กรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้เป็นหลักสูตรฐานสมรรถณะ มาตั้งแต่ปี 2562 ต่อมา รมว.ศธ. ตรีนุช เทียนทอง ได้กำหนดให้หลักสูตรฐานสมรรถนะ เป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วน มีการแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการจัดทำและพัฒนาฯหลักสูตรฐานสมรรถนะ และเปิดรับฟังความคิดเห็น โดยจัดเวทีระดมสมอง 12 ครั้งเวที ซึ่งจัดไปแล้วจำนวน 5 ครั้ง โดยแต่ละครั้งมีผู้ที่สนใจเข้าร่วมมากกว่า 11,000 คน และจัดเก็บรวบรวมข้อมูลจากแบบสอบถาม โดยเปิดรับความคิดเห็นผ่านช่องทางสื่อโซเชียลมีเดียของ ศธ. และเว็ปไซต์หลักสูตรฐานสมรรถนะ เว็บไซต์ https://cbethailand.com

เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า การทดลองใช้หลักสูตรในโรงเรียนนำร่องที่เข้าร่วมโครงการวิจัยในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจำนวน 265 โรงเรียน จาก 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ กาญจนบุรี ศรีสะเกษ ระยอง สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส โดยเป็นโรงเรียนสังกัด สพฐ. 226 โรง สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) 17 โรง และ สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 22 โรง โดยทั้ง 265 โรงเรียนเริ่มใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในช่วงชั้นที่ 1 ชั้น ป.1-ป.3 ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้

“ร่างหลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรแกนกลางเพื่อให้สถานศึกษาไปทำหลักสูตรสถานศึกษาให้เป็นไปตามบริบทและสภาพแวดล้อมของสถานศึกษา ซึ่งต้องมีการพัฒนาผู้บริหารและครู รวมถึงทำความเข้าใจกับผู้ปกครองและนักเรียนถึงวัตถุประสงค์ของหลักสูตรใหม่และแนวทางการเรียนการสอนด้วย ส่วนการวัดและประเมินผลก็ต้องเป็นแนวใหม่ จากเดิมที่วัดเพื่อรู้ รู้แค่ไหน แต่ต่อไปนอกจากรู้แล้วจะต้องทำได้ ทำเป็น คิด ได้คิดเป็นแค่ไหน ส่วนเรื่องของสาระการเรียนรู้นั้นขอทำความเข้าใจว่า หลักสูตรฐานสมรรถนะไม่ใช่หลักสูตรเปลี่ยนฟ้าเปลี่ยนแผ่นดิน แต่เป็นหลักสูตรต่อยอดหลักสูตรอิงมาตรฐาน ซึ่งหลักสูตรเดิมมีเรื่องของความรู้ ทักษะ และเจตคติ หลักสูตรใหม่ก็ยังมีเหมือนเดิม แต่สิ่งที่หลักสูตรใหม่เน้นคือ ไม่ใช่แค่รู้ ต้องทำให้เป็นทำให้ได้”ดร.อัมพรกล่าวและว่า ส่วนหนังสือเรียนที่เกรงว่าจะต้องปรับเปลี่ยนใหม่ทั้งหมดเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสูตรใหม่นั้น ขอชี้แจงว่าหนังสือเรียนก็ยังคงเป็นหนังสือที่มีสาระเหมือนเดิม ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง สิ่งที่เปลี่ยนแปลงคือกระบวนการจัดการเรียนการสอนและการวัดประเมินผล ไม่ได้ยกเลิกสาระหนังสือเรียนที่มีอยู่

ผู้สื่อข่าวถามว่า การยกร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะ จะขัดกับแผนการปฏิรูปประเทศ ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564  หรือไม่ เนื่องจากในแผนปฏิรูปประเทศไม่มีเรื่องการปรับหลักสูตรเลย มีแต่การปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนตามหลักสูตรอิงมาตรฐาน (Standard-based Curriculum) ในปัจจุบัน ไปสู่การเรียนรู้ที่พัฒนาสมรรถนะผู้เรียน (Competency-basedLearning) เป็นสำคัญ การจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาสมรรถนะแบบผู้เรียนสร้างความรู้ด้วยตนเอง มุ่งเน้นกระบวนการเรียนรู้แบบถักทอความรู้ ทักษะ คุณลักษณะผู้เรียนเข้าด้วยกันด้วยการลงมือปฏิบัติจริง (Active Learning)มุ่งเน้นให้ผู้เรียนสามารถเข้าใจและเรียนรู้อย่างมีความสุขและพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ผ่านการทำงานเป็นทีมและความร่วมมือระหว่างผู้เรียนด้วยกัน เลขาธิการ กพฐ.กล่าวว่า ในแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา บอกว่าให้พัฒนากระบวนการเรียนการสอนไปสู่สมรรถนะ เพราะฉะนั้นการทำจะให้การเรียนการสอนไปสู่สมรรถนะได้ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ หลักสูตร การเรียนการสอน และการวัดประเมินผล เพราะฉะนั้น ทั้ง 3 ส่วนต้องเชื่อมโยงกัน  ส่วนกระบวนการไปสู่สมรรถนะมีความเกี่ยวข้องกับการเรียนรู้แบบActive Learning  คือ เดิมการเรียนการสอนเป็นแบบบอกความรู้ แต่พอใช้ Active Learning นอกจากรู้แล้วต้องปฏิบัติด้วย ขณะนี้หลักสูตรฐานสมรรถนะก็ต้องการให้เกิดแบบเดียวกัน เพราะฉะนั้น Active Learning ก็คือกระบวนการเรียนการสอนเพื่อให้เกิดสมรรถนะ เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องเดียวกัน

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments