นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ กล่าวถึงความคืบหน้าในการจัดตั้งกระทรวงอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรม ว่า ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา ซึ่งทราบว่า กฤษฎีกาได้ตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้นมา โดยมี ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปด้านกฎหมาย เป็นประธาน เนื่องจากมีเวลาจำกัด ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ จากนั้นจะส่งกลับไปให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณา และต้นเดือนกันยายนจะต้องส่งไปให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)พิจารณา ทั้งนี้ สนช.มีเวลาทำงานถึงวันที่ 30 พฤศจิกายนนี้ เท่านั้น และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้นโยบายไว้ชัดเจนว่า กระทรวงใหม่จะต้องเกิดขึ้นภายในวันที่ 30 พฤศจิกายนนี้ ดังนั้น หากเรื่องนี้ผ่าน สนช. ก็สามารถตั้งกระทรวงนี้ได้ทันที ส่วนข้อกังวลว่าจะมีเวลาเพียงพอหรือไม่ ตนคิดว่าหากการเลือกตั้งเกิดขึ้นในเดือน กุมภาพันธ์ ปี 2562 ก็จะมีเวลา 3 เดือนในการจัดโครงสร้างและจัดสรรคน น่าจะมีเวลาเพียงพอที่จะมีกระทรวงใหม่ได้ก่อนมีการเลือกตั้ง
“ที่ยังมีปัญหาตอนนี้ คือบางหน่วยงานยังไม่ลงตัว ซึ่งในส่วนของอุดมศึกษาและกระทรวงวิทยาศาสตร์ ไม่มีปัญหา แต่ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระที่ให้ทุนวิจัย อยากอยู่เป็นอิสระเหมือนเดิม ซึ่งผมคิดว่าทางคณะกรรมการกฤษฎีกาคงเชิญหน่วยงานเหล่านี้เข้าไปหารือเพื่อหาแนวทาง และตัดสินว่าอะไรเหมาะสมเพื่อให้กระทรวงใหม่เสร็จทันกำหนด”นพ.อุดม กล่าวและว่า อย่างไรก็ตามการทำงานของกระทรวงใหม่นี้ก็จะมี 2 พ.ร.บ. กำกับ คือ พ.ร.บ.การอุดมศึกษา และพ.ร.บ.วิจัยและนวัตกรรม ขณะนี้คณะกรรมการกฤษฎีกา ขอให้ตนส่ง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา ไปให้ ครม. พิจารณาด้วย เพราะที่ผ่านมาส่งไปเฉพาะ พ.ร.บ.ชุดปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม เท่านั้น ดังนั้นในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ ตนจะนำ พ.ร.บ.การอุดมศึกษา เสนอให้ ครม. พิจารณาเห็นชอบ ส่วน พ.ร.บ. วิจัยและนวัตกรรม ที่มี พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับผิดชอบ ตอนนี้ยังไม่เรียบร้อย เนื่องจากมีความเห็นแตกต่างกันอยู่ ซึ่งดูแล้วเห็นว่า พ.ร.บ.วิจัยและนวัตกรรม ไม่สามารถเข้า ค.ร.ม. พร้อมกับ พ.ร.บ. การอุดมศึกษา ได้ทัน เพราะต้องใช้เวลาในการพูดคุยเพื่อแก้ไขปัญหา แต่อย่างน้อยหาก พ.ร.บ การอุดมศึกษา นำให้ ครม.พิจารณาได้ทันแล้วก็น่าจะไม่มีปัญหา เพราะเรื่องใหญ่ของกระทรวงนี้คือการปฏิรูปอุดมศึกษาที่ครอบคุลมศาสตร์ทั้งหมดและยังครอบคลุมการทำวิจัยและนวัตกรรมด้วย