จากการประชุมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ของกลุ่มพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(กศน.) ระหว่างวันที่ 27-28 ก.ย. นายภูมิพัทธ เรืองแหล่ รองเลขาธิการ กศน. กล่าวตอนหนึ่งว่า การรับฟังความคิดเห็น มุมมอง ภาพอนาคตการจัดการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และความคิดเห็น มุมมอง เกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตรฯจากผู้ทรงคุณวุฒิในภาคส่วนต่างๆในวันนี้ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ชัดเจนสำหรับการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษา ปรับปรุงการเรียนการสอนของผู้เรียน กศน.เพื่อไปสู่เป้าหมายการพัฒนาการเรียนรู้และคุณภาพชีวิตให้กับคนทุกช่วงวัย โดยข้อมูลต่างๆที่ได้มีการศึกษาและยกร่างกรอบหลักสูตรฐานสมรรถนะ กศน.ในครั้งนี้ ในภาพรวมนับว่ามีความครอบคลุม ถือว่าเดินมาถูกทาง ให้เดินหน้าการพัฒนาหลักสูตรต่อไป เพื่อให้การจัดการศึกษาสามารถพัฒนาประชาชนได้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมประเทศและสังคมโลก ซึ่งในการปรับเปลี่ยนจากหลักสูตรมาตรฐานเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ เราต้องกำหนดเป้าหมายมุ่งไปที่สมรรถนะของผู้เรียนเป็นสำคัญ ต้องคำนึงถึงกลุ่มเป้าหมายด้วยกลุ่มเป้าหมายคือใคร ต้องการอะไรให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศ ต้องตอบโจทย์เหล่านั้นด้วย
“การพัฒนาหลักสูตร กศน.ต้องดูหลักสูตรของหน่วยงานอื่น เพราะต้องเทียบเคียงกันว่าจะต้องทำอะไรได้ รวมถึงการศึกษาข้อมูลประชากรเพิ่มเติมจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ เกี่ยวกับช่วงอายุต่าง ๆ ในการกำหนดกลุ่มเป้าหมาย จึงจะสามารถออกแบบการจัดการศึกษาให้มีความสอดคล้องจำนวนผู้เรียน ตามดัชนี 3 ตัวของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (ระบบนิเวศของการจัดการเรียนรู้ , การเรียนรู้ของบุคคล, ดัชนีการเรียนรู้) และข้อมูลการออกกลางคันของนักเรียนในระบบ เป็นต้น โดยข้อเสนอแนะจากเวทีความคิดเห็นในครั้งนี้ ทางคณะทำงานก็จะนำไปปรับเพื่อให้ความครอบคลุมในการพัฒนาหลักสูตรมากขึ้น ผมขอขอบคุณผู้ทรงคุณวุฒิและผู้ที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนการดำเนินงานในด้านนี้เป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มาร่วมเสวนาให้ข้อคิดเห็นที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานต่อไปในอนาคต” รองเลขาธิการ กศน.กล่าว
ด้านคณะผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัย ได้ชื่นชมคณะทำงานของ สำนักงาน กศน.ที่ได้ศึกษาและเรียบเรียงข้อมูลการขับเคลื่อนการต่างๆได้ครอบคลุมและชัดเจนเป็นอย่างดี และได้ให้ข้อคิดเห็นว่า “ การจัดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะ ต้องสามารถแยกได้ว่าผู้เรียนจะมีสมรรถนะอะไรที่เหมือนกันและต่างกัน ต้องมีการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มเป้าหมาย เพราะเนื่องจากกลุ่มเป้าหมายมีความหลากหลาย การจัดทำหลักสูตรต้องสามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายได้ ควรวิเคราะห์ว่าการจัดศึกษาของ กศน. นั้นมีอะไรที่เป็นจุดเด่นและต้องพิจารณาว่าสมรรถนะใดที่สามารถตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายได้อย่างแท้จริง อีกทั้งต้องมีการศึกษากฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งกฎหมายใหม่และกฎหมายเดิม ให้สามารถเทียบเคียงกับหลักสูตรพื้นฐานได้ ต้องมีมาตรฐาน แต่สามารถยืดหยุ่นได้ และการแนะแนวนั้น ไม่ใช่เป็นการแนะแนวแค่การเรียนตามหลักสูตร ควรสามารถแนะแนวต่อการประกอบอาชีพได้ การวัดและประเมินผล ต้องสามารถวัดและประเมินผลสมรรถนะได้ และต้องเตรียมบุคลากรให้พร้อมต่อการพัฒนาหลักสูตรในครั้งนี้”
สำหรับคณะผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชน ให้ข้อคิดเห็นสรุปได้ว่า “ การยกร่างกรอบหลักสูตรฐานสมรรถนะ กศน. นี้ ถือว่าข้อมูลที่ศึกษามามีความสอดคล้องกับบริบทการจัดการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี แต่อยากให้มีการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการลดลงของจำนวนผู้เรียน เพราะอาจจะส่งผลต่อการพัฒนาหลักสูตรในครั้งนี้ ในการกำหนดกลุ่มเป้าหมาย ไม่ใช่เก็บจากการตกหล่นจากในระบบอย่างเดียว เราต้องรู้ว่าใครคือลูกค้า ลูกค้าต้องการอะไร และกศน. จะตอบสนองลูกค้าอย่างไร การพัฒนาหลักสูตรจึงต้องให้ผู้เรียนมีจุดหมายใช้ชีวิตให้มีประโยชน์ คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น ซึ่งเป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ต้องมีความยืดหยุ่น ลดกรอบ ลดเกณฑ์ การจัดการเรียนรู้ก็ต้องไม่ใช่จัดการเรียนรู้แบบผู้ใหญ่แต่เพียงอย่างเดียว การกำหนดสมรรถนะต้องมีความมุ่งหวังให้ผู้เรียนสามารถใช้ชีวิตเป็น ต้องปรับเปลี่ยนบทบาทความเป็นครู ให้อยู่ในรูปแบบ Coaching ให้กับผู้เรียน และต้องมีพัฒนาเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง สำนักงาน กศน. ต้องมีแหล่งเรียนรู้ที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้พร้อมต่อการพัฒนาหลักสูตรในครั้งนี้ รวมถึงสนับสนุนทรัพยากรต่าง ๆให้เอื้อต่อการจัดการเรียนรู้ด้วย
นางเอื้อมพร สุเมธาวัฒนะ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา กล่าวว่า สำนักงาน กศน.ได้ประกาศใช้หลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 มากว่า 12 ปีแล้ว ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาประเทศมีการเปลี่ยนแปลงมากมาย จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อการพัฒนาปรับปรุงหลักสูตรหลักสูตรขั้นพื้นฐานของ กศน. ใหม่ โดยเริ่มดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว และได้ยกร่างสมรรถนะของผู้เรียนการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็น 4 สมรรถนะ คือ การคิดเป็น การจัดการตนเอง การสื่อสารและความเป็นพลเมือง ทั้งนี้ร่างกรอบสมรรถนะดังกล่าว กศน.ยังต้องรับฟังความคิดเห็นของบุคคลกลุ่มต่าง ๆ อีก เพราะผู้เรียน กศน.มีหลายกลุ่ม เช่น เกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน ทหารกองประจำการ ผู้พิการ เด็กชาวเขา ชาวเล เป็นต้น ซึ่งจะต้องมีการทบทวน ตรวจสอบในวงกว้าง รวมถึงรวบรวมสาระสำคัญต่าง ๆ ที่จะนำมาเป็นข้อมูลในการยกร่างกรอบหลักสูตรให้มีความสมบูรณ์สามารถตอบโจทย์ของผู้ใช้บริการ ให้สามารถต่อยอดการพัฒนาตนเอง การพัฒนาชีวิต และอาชีพได้เต็มตามศักยภาพ ตามความถนัด และรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมของประเทศและสังคมโลกต่อไป