เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 21 กันยายน 2564 ที่หอประชุมคุรุสภา ศ.ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุมวิชาการและประกาศนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง “ประกาศเดินหน้าพลิกโฉมสร้างนวัตกรรมครูสู่นวัตกรรมนักเรียน ก้าวข้ามสภาวะวิกฤต COVID-19 แบบ Active Learning ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps” ผ่านระบบZOOM และ OBEC Channel ของ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) โดยมีผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการเข้าร่วม
ศ.กิตติคุณ ดร.วิษณุ กล่าวว่า การประกาศนโยบายกระทรวงศึกษาธิการครั้งนี้ เป็นการเปลี่ยนการเรียนการสอนจาก Passive Learning ไปสู่ Active Learning ซึ่งจะทำให้เด็กที่เรียนด้วย Active Learning มีความรู้จริง รู้ลึก และรู้นาน เพราะลงมือทำเอง ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญที่ต้องสร้างตั้งแต่ระดับอนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษา จนถึงอุดมศึกษาให้ได้ ถือเป็นNew Normal ชนิดหนึ่งด้านการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการและคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาก็ตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนี้ และถือเป็นขั้นตอนการปฏิรูปที่สำคัญที่ต้องเร่งผลักดันให้ได้ ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่ว่าไปที่ไหนก็จะพูดถึงแต่เรื่อง Active Learning เสมอ
รองนายกฯ กล่าวว่า การผลักดันเรื่องนี้เป็นนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งสอดคล้องกับแผนการปฏิรูปประเทศ และยุทธศาสตร์ชาติ ที่สำคัญสอดคล้องกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ อีกทั้งเมื่อต้นปีที่ผ่านมาได้มีประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้ปรับการเรียนการสอนอิงมาตรฐานไปสู่การพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนเป็นสำคัญ เพราะฉะนั้นหวังว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป คือ จะได้เห็นการต่อยอดขยายผลไปทั่วราชอาณาจักร สามารถดำเนินการเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น
“การเรียนด้วย Active Learning ทำให้เด็กมีโอกาสเรียนด้วยตัวเอง ซึ่งจะทำให้รู้สึก รู้จริง รู้นานและไม่ค่อยลืม ขณะที่ครูก็จะเปลี่ยนจากผู้สอนหรือผู้บอกมาเป็นโค้ช คอยแนะนำ แต่เด็กต้องลงมือทำเอง เพราะฉะนั้นขอให้เชื่อเถอะใช้ Active Learning แล้วเด็กจะเก่งขึ้นแน่นอน”รองนายกฯกล่าว
น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการได้จัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning มาระยะหนึ่งแล้ว โดยนำร่องในภาคกลาง 80 โรงเรียน และภาคเหนือ 30 โรงเรียน ตอนนี้ก็มีแผนที่จะขยายผลให้ครอบคลุมทุกภาคทั่วประเทศ เพราะจุดเด่นของกระบวนการเรียนรู้ด้วย Active Learning คือ การที่ผู้เรียนได้นำกระบวนการสร้างความรู้ไปใช้ประโยชน์ได้จริงทั้งในชีวิตประจำวันและการเรียนรู้ในสถานศึกษาโดยผู้เรียนสามารถสร้างนวัตกรรมได้ตั้งแต่ระดับอนุบาล ประถมศึกษา และต่อยอดในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายอย่างต่อเนื่อง
ด้าน ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา กล่าวว่า การเรียนการสอนแบบ Active Learning เป็นการเรียนโดยให้นักเรียนเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติจริง แต่การนำไปสู่การสร้างความรู้หรือสร้างผลผลิตที่เป็นนวัตกรรมได้ต้องออกแบบโดยใช้กระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ ที่เรียกว่า GPAS 5 Steps ดังนั้นการประกาศนโยบายกระทรวงครั้งนี้จึงเป็นการพัฒนาทั้งความคิด คุณธรรม ค่านิยม ทักษะ หลอมรวมถักทอเป็นเนื้อเดียวกันในตัวเด็ก เพราะฉะนั้นผลผลิตที่ออกมาจากตัวเด็กก็จะเป็นชิ้นงานที่สร้างสรรค์สะท้อนให้เห็นความคิดของเด็ก และการเรียนรู้ด้วย Active Learning ผ่านกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps จะช่วยร่นระยะเวลาในการเรียนรู้ของเด็กได้ถึง 20 ปี ไม่ต้องรอให้เรียนจบแล้วค่อยไปพัฒนา แต่เด็กสามารถเรียนไปพร้อมกับการปฏิบัติได้เลยตั้งแต่อนุบาล