เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2564 กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 กระทรวงศึกษาธิการ และ สภาผู้ปกครองและครูแห่งประเทศไทย ได้มีการจัดรายการศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงศึกษาธิการ (ศบค.ศธ.) พบสภาผู้ปกครองและครูแห่งประเทศไทย “ 3 ภาคีร่วมใจเพื่อเปิดภาคเรียนปลอดภัยกับวัคซีนเด็ก ” โดยถ่ายทอดสดทาง Facebook: OBEC Channel https://www.facebook.com/obectvonline/ , YouTube: https://youtube.com/c/OBECTVONLINE Website: www.obectv.tv และ เพจ Facebook ของ สช.(Opecoffice) https://m.facebook.com/opecoffice/
โดย ดร.นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) เปิดเรียนแบบออนไซต์ 4,667 โรง จากโรงเรียนทั้งหมดกว่า 29,000 โรง น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ จึงได้มีการเตรียมความพร้อมเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 วันที่ 1 พฤศจิกายน โดยจะเริ่มฉีดวัคซีนให้นักเรียนได้วันที่ 4 ตุลาคม ขณะที่ครูฉีดไปแล้วกว่า 70% และจะครบ100% ในช่วงเวลาเดียวกัน ทั้งนี้ สพฐ. ได้เตรียมการเป็นระยะ จากข้อมูลมีนักเรียนอายุ 12 – 17 ปี 11 เดือน ประมาณ 4.5 ล้านคน แบ่งเป็นสังกัด สพฐ. 2.9 ล้านคน ได้สื่อสารให้โรงเรียนประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับผู้ปกครองเห็นความสำคัญของการฉีดวัคซีน เพื่อประกอบการตัดสินใจในการยื่นความประสงค์ยินยอม หรือไม่ยินยอมให้บุตรหลานฉีดวัคซีน
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า โรงเรียนจะรวบรวมรายชื่อคนที่สมัครใจส่งไปที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ก่อนแจ้งไปที่ศึกษาธิการนจังหวัด (ศธจ.)และส่งต่อไปสาธารณสุขจังหวัด เพื่อนำจำนวนนักเรียนขอโควตาวัคซีน เพื่อจัดสรรต่อไป โดยจะใช้โรงเรียนเป็นฐานในการฉีด ทั้งนี้ เมื่อฉีดเข็ม 1 แล้วจะเว้น 3 สัปดาห์ จึงจะฉีดเข็ม 2 หากนักเรียนและครูได้รับการฉีดวัคซีนกว่า 80% ก็จะสามารถเปิดเรียนออนไซต์ได้ ส่วนการเฝ้าระวังหลังการฉีดวัคซีน สพท. จะร่วมกับ สธ. เฝ้าระวังดูแลนักเรียนกรณีมีอาการไม่พึ่งประสงค์ ทั้งนี้แม้จะเปิดเรียนไม่ได้หมายความว่า เด็กทุกคนต้องมาโรงเรียน หากผู้ปกครองยังไม่มั่นใจ ก็สามารถให้ลูกเรียนออนไลน์ต่อไปได้ อีกทั้งการมาเรียนก็ไม่ได้มีรูปแบบเดียว ขึ้นอยู่กับทางโรงเรียนกำหนด เช่น สลับวันมาเรียนวันเว้นวัน เป็นต้น ตรงนี้เป็นการดำเนินการเพื่อให้โรงเรียนกลับมาเรียนออนไซต์โดยเร็วที่สุด
นายนิวัตร นาคะเวช นายกสภาผู้ปกครองฯ กล่าวว่า การเรียนออนไลน์พบว่ามีปัญหาค่อนข้างมาก เด็กไม่มีสมาธิในการเรียน ระบบอินเตอร์เน็ตไม่เสถียร ทำให้การจัดการเรียนการสอนไม่เกิดคุณภาพ และจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เห็นว่า การอยู่ที่โรงเรียนปลอดภัยกว่าการเรียนอยู่บ้าน ซึ่งส่วนตัวค่อนข้างเห็นด้วย และเสนอว่าโรงเรียนควรตั้ง ศบค.ในโรงเรียน เพื่อให้เป็นความร่วมมือระหว่างชุมชนกับโรงเรียน ให้เกิดเครือข่ายเข้ามาร่วมเพื่อสร้างความเข้าใจ ทำให้เกิดการแก้ปัญหาร่วมกันในภาพรวม และถ้าเป็นไปได้ หากฉีดเด็ก และครูแล้ว ถ้าเป็นไปได้ อยากให้สำรวจด้วยว่า ผู้ปกครองได้รับการฉีดแล้วหรือยังหากยังและเป็นไปได้ควรฉีดให้ผู้ปกครองและให้แจกชุดตรวจโควิด Antigen Test Kits หรือ ATK สำหรับตรวจหาเชื้อโควิด-19 สำหรับผู้ปกครองและเด็ก ที่สำคัญก่อนเปิดเทอมควรมีหลักสูตร ความปลอดภัยในช่วงโควิดเพื่อสร้างความเข้าใจ
นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ศธ.และ สธ.ได้ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการกำหนดมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด19 ในโรงเรียน ที่เรียกว่า Sandbox Safety Zone in School หรือ SSS โดยนำร่องในโรงเรียนประจำ ซึ่งได้ผลดี ครูในโรงเรียนได้รับวัคซีนร้อยละ 80 ขึ้นไป โรงเรียนมีการจัดพื้นที่ปลอดภัย มีจัดกิจกรรมเป็นกลุ่มเล็กๆ แยกกัน มีการคัดกรองที่ได้ผล ทำให้พบผู้ติดเชื้อ และแยกกัก ส่งตัวรักษา และควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถือเป็นความสำเร็จของกระทรวงศึกษาธิการ และเป็นตัวอย่างให้สถานประกอบการประเภทอื่นๆ นำไปใช้เป็นตัวอย่าง ส่วนการนำร่องในโรงเรียนไปกลับนั้น โรงเรียนต้องเน้นกิจกรรมที่ลดความเสี่ยงให้มากที่สุด โดยจะมีการประเมินร่วมกันระหว่างคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด กับสถานศึกษาอีกครั้ง เพื่อให้การจัดการศึกษาปลอดภัยที่สุด
นพ.สราวุฒิ กล่าวว่า สำหรับวัคซีนที่จะให้กับเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปนั้น ขณะนี้ทั่วโลกอนุมัติให้ใช้วัคซีนชนิด mRNA และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ของไทย อนุมัติให้ฉีดได้ จะเป็นวัคซีนไฟเซอร์ ซึ่งจะเข้ามาในประเทศไทยและเริ่มฉีดต้นเดือนตุลาคม ซึ่งยืนยันว่ามีเพียงพอที่จะฉีดให้กับเด็ก โดยเริ่มฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปในกลุ่มเด็กที่มีโรคประจำตัว เพราะเด็กลุ่มนี้หากติดเชื้อโควิดจะมีความรุนแรงมากกว่าเด็กปกติ โดยพบว่า กลุ่มเด็ก อายุ 12-19 ปี มีอัตราการติดเชื้อร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับกลุ่มผู้ใหญ่ และเสียชีวิต ร้อยละ 0.03 แม้จะเป็นจำนวนน้อย แต่ส่วนใหญ่เด็กที่เสียชีวิต จะมีโรคประจำตัวด้วย จึงจำเป็นต้องเร่งฉีดวัคซีนให้กับเด็กที่มีโรคประจำตัวให้ได้มากที่สุด
“ส่วนเรื่องความปลอดภัยของวัคซีนนั้น คณะผู้เชี่ยวชาญของกระทรวงสาธารณสุข อย. และราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ เห็นตรงกันว่า มีความจำเป็นที่จะต้องฉีดวัคซีนให้กับเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ในส่วนของวัคซีนไฟเซอร์นั้น ทั่วโลกมีข้อมูลพบอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ในเด็กผู้ชาย และพบในโดส ที่ 2 มากกว่าโดสที่ 1 สำหรับประเทศไทยพบเพียง 1 คน เท่านั้นและมีอาการไม่มาก ขณะนี้รักษาหายเป็นปกติแล้ว ส่วนวัคซีนเชื้อตาย ได้แก่ วัคซีนซิโนฟาร์ม ที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ นำมาฉีดให้กับเด็กนักเรียน นั้น เป็นขั้นตอนการศึกษาวิจัย ส่วนการนำไปฉีดในเด็กทั่วไปนั้น ขณะนี้ อย. ไทย ยังไม่อนุมัติ เนื่องจากยังไม่มีผลการทดลองระยะ3 ที่แสดงให้เห็นถึงความปลอดภัยในเด็ก จึงต้องรอข้อมูลส่วนนี้ ก่อน ถึงจะนำมาใช้กับเด็กทั่วไป” นพ.สราวุฒิ
นพ.สราวุฒิ กล่าวด้วยว่า จากข้อมูลพบว่า ครูในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือพื้นที่สีแดงเข้ม และพื้นที่ควบคุมสูงสุด หรือ พื้นที่สีแดง ยังไม่ได้รับวัคซีน ประมาณ 2-4 แสนคนนั้น ขณะนี้ ศธ. และ สธ. กำลังประสานเพื่อเร่งฉีดวัคซีนให้ครูจนครบก่อนเปิดภาคเรียนเพื่อความปลอดภัยของนักเรียนและผู้ปกครอง ส่วนผู้ปกครองในพื้นที่สีแดงเข้มและสีแดง ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ขอให้ไปติดต่อสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพื่อขอรับวัคซีน
ส่วนที่ผู้ปกครองสอบถามว่า เด็กอายุ 18 ปี ที่รับวัคซีนเข็มที่ 1 จากหน่วยฉีดวัคซีนอื่นๆ จะมารับวัคซีนเข็ม 2 ที่จะมีการฉีดในโรงเรียนได้หรือไม่นั้น นพ.สราวุฒิ กล่าวว่า เด็กฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ที่จุดฉีดใด จะได้รับนัดหมายจากจุดฉีดนั้น ส่วนการฉีดวัคซีนในโรงเรียน จะเป็นข้อมูลที่โรงเรียนรวบรวมและนัดหมายการฉีด เป็นคนละส่วนกัน ส่วนผลระยะยาวของวัคซีน mRNA นั้น ทั่วโลกและไทย พบอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ดังกล่าวข้างต้น และในไทยก็พบจำนวนน้อย เพียง 1 คนและรักษาหาย ดังนั้นเมื่อชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์ที่เด็กจะได้รับจากการฉีดวัคซีน มีมากกว่าไม่รับวัคซีน เพื่อที่เด็กจะได้กลับมาเรียนในโรงเรียนได้ตามปกติ เพราะการเรียนออนไลน์อย่างเดียวส่งผลกระทบมากมาย เด็กกลุ่มเปราะบาง ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดต่างๆ หลายกลุ่ม เข้าไม่ถึงการเรียนออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราเชื่อว่า การที่เด็กได้แสดงออก ได้พบกัน ได้เรียน มีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน จะมีส่วนสร้างเด็กไทยให้มีคุณภาพในอนาคต