เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2564 น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการสภาการศึกษา และ นายคมกฤช จันทร์ขจร ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา ได้ประชุมหารือถึงข้อเสนอในการพัฒนา Big Data ด้านการศึกษา ของกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับ คณะอนุกรรมการสภาการศึกษา ด้านการปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้โดยการพลิกโฉมด้วยระบบดิจิทัล โดยเป็นการประชุมด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านโปรแกรม Cisco WebEx
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รศ.นพ.ชัยเลิศ พิชิตรพรชัย ประธานคณะทำงานขับเคลื่อน Big Data ด้านการศึกษา รายงานผลการดำเนินงานต้นแบบ (Prototype) ข้อมูลนักเรียนปีการศึกษา 2562 โดยแสดงตัวเลขให้เห็นถึงความสำคัญของ Big Data ว่าสามารถเข้ามาช่วยวิเคราะห์การสนับสนุนผู้เรียนที่อยู่กระจายตัวได้อย่างไร สามารถเลือกข้อมูลแยกตามภูมิภาค รายจังหวัด ข้อมูลอัตราการเข้าเรียน และข้อมูลการออกกลางคัน โดยยกตัวอย่างหากใช้ข้อมูลเลข 13 หลัก จะทำให้ลดความซ้ำซ้อนในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายรายหัวได้
สำหรับด้านครู ข้อมูลตัวเลขสามารถวิเคราะห์ คาดการณ์แนวโน้มจำนวนครูเกษียณอายุราชการใน 5-10 ปีข้างหน้า และวางแผนการจัดสรรให้เหมาะสมกับความต้องการในอนาคต อย่างไรก็ตามปัจจุบันข้อมูลทั้งหมดถูกรวบรวมอยู่ที่ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เบื้องต้นเป็นการกรอกข้อมูลรายบุคคลจากโรงเรียนทั่วประเทศ ซึ่งยังขาดความเชื่อมโยงร่วมกับกระทรวงอื่นๆ ที่จะช่วยให้เกิดความแม่นยำของข้อมูล จึงเสนอการผลักดันให้เกิด (ร่าง) พระราชบัญญัติ.การบริหารจัดการข้อมูลสารสนเทศเพื่อการจัดการศึกษา เพื่อเป็นกฎหมายพื้นฐานในการบูรณาการข้อมูลของกระทรวงที่เกี่ยวข้องร่วมกัน
ส่วน นายอรรถการ ตฤษณารังสี ประธานอนุกรรมการสภาการศึกษา ด้านการปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้โดยการพลิกโฉมด้วยระบบดิจิทัล สรุปผลโครงการ ‘ED’s Possible’ แมวมอง ตามหาไอเดีย พลิกโฉมการเรียนรู้ของเด็กไทย ร่วมกับบริษัท อินสครู จำกัด เปิดพื้นที่ให้คนไทยได้ร่วมแบ่งปันการสอนที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีลักษณะที่พึงประสงค์ตามมาตรฐานการศึกษาของชาติ 3ด้าน ได้แก่ ผู้เรียนรู้ ผู้ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรม และพลเมืองที่เข้มแข็ง ซึ่งได้คัดเลือก 75 ไอเดียต้นแบบ เป็นผู้ได้รับรางวัลInspiring Learning Designer โดยมีไอเดียการจัดการเรียนการสอนที่น่าสนใจ เช่น ไอเดีย Space Biologist คาบเรียนที่ให้เด็กได้เป็นผู้เรียนรู้ ค้นคว้าคำตอบผ่านการเป็นนักชีววิทยาอากาศ, ไอเดีย “บุก” คลสำคัญ คาบเรียนที่เด็กเป็นผู้ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรมในการเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาให้บุคลากรในโรงเรียน ทำให้ผู้เรียนเข้าใจและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น, ไอเดียภาพตัวแทนของคนอาเซียน คาบเรียนที่ให้เด็กเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง ผ่านมุมมองการสำรวจความคิดของตนเองกับคนในอาเซียน ทำให้ผู้เรียนเคารพความหลากหลายในเชื้อชาติ นอกจากนี้ ยังขยายผลไอเดียที่เกิดขึ้นสู่ห้องเรียนทั่วประเทศผ่านหนังสือนักออกแบบการเรียนรู้ และเผยแพร่ผ่าน Facebook Fan Page Inskru-พื้นที่แบ่งปันไอเดียการสอน ซึ่งมีผู้เข้าถึงกว่า 636,775 คน
ทั้งนี้ น.ส.ตรีนุช กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการมีความยินดีที่จะผลักดันการใช้ข้อมูลBig Data ร่วมกับการวิเคราะห์ วางแผนนโยบายในการบริหารงาน พร้อมผลักดันข้อกฎหมาย 2 ฉบับ คือ (ร่าง) พระราชบัญญัติการบริหารจัดการข้อมูลสารสนเทศเพื่อการจัดการศึกษา และ (ร่าง) พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อการศึกษา และร่วมตั้งข้อสังเกตถึงการสังเคราะห์ตัวชี้วัดการนำข้อมูลมาใช้งานในเชิงบริหารงานของข้อมูล Big Data ที่มีอยู่ เพื่อนำไปสู่การใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งนี้ขอขอบคุณครูไทยที่ร่วมเสนอไอเดียการจัดการเรียนการสอนยุคใหม่ ในโครงการ‘ED’s Possible’ และเชื่อว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนวิธีคิดและปรับแผนการสอนที่พลิกโฉมการศึกษาไทยต่อไป