เมื่อวันที่ 13 ก.ย.2564 นางสาวนภาพร เพ็ชร์จินดา ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเสรีรวมไทย ได้นำกลุ่มผู้ปกครอง และนักเรียน ที่จะได้รับผลกระทบจากการการยกเลิกการสอบวัดความสามารถทางด้านคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษ( SAT) เข้าพบดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน(สช.) เพื่อสอบถามความชัดเจน เรื่องศูนย์สอบวัดความสามารถทางด้านคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษ (กรณีการใช้อาคารหรือสถานที่ของโรงเรียนในระบบประเภทนานาชาติ)ว่า เมื่อวันที่ 24 ส.ค.2564 ที่ผ่านมา กลุ่มผู้ปกครองได้ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เพื่อสอบถามความชัดเจนตามข้อกําหนดออกตามความในมาตรา 6 แห่งพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมทั้งหนังสือแจ้งเลื่อนการใช้สถานที่จัดสอบ SAT ในวันที่ 28 สิงหาคม 2564 จาก สช. สํานักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ แต่ยังไม่มีความชัดเจนใด ๆ
นางสาวนภาพร กล่าวต่อไปว่า ตัวแทนกลุ่มผู้ปกครองและนักเรียนฯที่มาในวันนี้ได้รับผลกระทบจากประกาศและคำสั่งของศบค. เรื่อง พื้นที่สถานการณ์ที่กําหนดเป็นพื้นที่ควบคุม สูงสุดและเข้มงวด พื้นที่ควบคุมสูงสุด พื้นที่ควบคุม และพื้นที่เฝ้าระวังสูงฯ ที่ห้ามจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มกันของบุคคลเพื่อลดความเสี่ยงในการติดต่อสัมผัสกันที่สามารถแพร่โรคได้ ส่งผลให้ สช. สั่งระงับศูนย์สอบเลื่อนการจัดสอบ SAT ใน วันที่ 28 สิงหาคม 2564 ออกไปก่อน ทําให้ศูนย์สอบหลายโรงเรียน เลื่อนการจัดสอบไปเป็นวันที่ 25 กันยายน 2564 และมีบางโรงเรียน ยกเลิกการจัดสอบไป ทําให้กลุ่มนักเรียนในหลักสูตรนานาชาติไม่มีโอกาสในการสอบ เพื่อใช้ยื่นสมัครสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในหลักสูตรนานาชาติในรอบ portfolio ซึ่งเหลือเพียงการสอบในรอบวันที่ 25 กันยายน และ 2 ตุลาคม 2564นี้ เท่านั้น โดยการจัดสอบดังกล่าวมีความจําเป็นอย่างยิ่งต่อการยื่นสมัครสอบคัดเลือกเข้าศึกษา ต่อในระดับอุดมศึกษาในหลักสูตรนานาชาติในรอบ portfolio ซึ่งที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ประกาศ กําหนดการเริ่มรับสมัครรอบ Portfolio วันที่ 9 ธันวาคม 2564 ถ้าเด็กได้มีโอกาสสอบก็จะทําให้การสอบครั้งนี้ เป็นโอกาสในการสอบครั้งสุดท้ายของนักเรียนที่จะ สามารถยื่นสมัครรอบ Portfolio อย่างไรก็ตาม การยกเลิกการสอบเนื่องจากสถาณการณ์ โควิด-19 หลายครั้ง ทําให้นักเรียนจํานวนมากยังไม่มีหรือมีคะแนนสอบไม่เพียงพอในการสมัครสอบศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา
ด้าน ดร.อรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน(กช.) กล่าวว่า สช.รับทราบถึงปัญหาดังกล่าวอยู่ โดย สช.ได้ทำหนังสือถึง ศบค.ก่อนหน้านี้แล้ว เพื่อให้พิจารณาให้สามารถใช้อาคารของโรงเรียนในการจัดสอบได้ ซึ่ง ศบค.ก็อนุญาตให้ใช้แล้ว แต่มีเงื่อนไขต้องเป็นไปตามที่คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อในแต่ละพื้นที่พิจารณา อย่างไรก็ตาม สช.ได้ทำเรื่องถึงปลัดกระทรวงศึกษาธิการลงนามไปถึง ศบค. เพื่อให้ ศบค.อนุญาตเชิงหลักการอีกครั้ง จากนั้นจะส่งเรื่องไปยังผู้เกี่ยวข้องให้จัดสอบให้ทันต่อไป