“ตรีนุช” ไขข้อข้องใจ “กลุ่มนักเรียนเลว” รับเรียนออนไลน์ไม่ดีเท่าเรียนที่โรงเรียน แต่เป็นระบบหนึ่งที่ใช้ในการขับเคลื่อนการศึกษาภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ย้ำ ศธ.ใช้ทุกมาตรการ เพื่อให้การเรียนรู้ของเด็กไม่หยุดชะงัก ภายใต้ความปลอดภัยสูงสุด
เมื่อวันที่ 8 ก.ย.2564 น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงข้อเรียกร้องของกลุ่ม”นักเรียนเลว”ที่เรียกร้องให้หยุดเรียนออนไลน์ ว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดรับฟังความคิดเห็นของทุกกลุ่ม และขอชี้แจงว่าการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ สืบเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา-2019 หรือ โควิด-19 ทำให้ ศธ.ต้องออกคำสั่งปรับรูปแบบการศึกษา เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยมีนโยบายและมอบหมายให้หน่วยงานต้นสังกัดจัดทำคู่มือการจัดการเรียนการสอนในช่วงสถานการณ์โควิด-19 และให้โรงเรียนพิจารณาเลือกรูปแบบการเรียนการสอน 5 รูปแบบ คือ 1.On-site เรียนที่โรงเรียน โดยมีมาตรการเฝ้าระวังตามประกาศของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) 2.On-air เรียนผ่านมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือ DLTV 3.On-demand เรียนผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ 4.On-line เรียนผ่านอินเตอร์เน็ต และ 5.On-hand เรียนที่บ้านด้วยเอกสาร เช่น หนังสือ แบบฝึกหัดใบงาน ในรูปแบบผสมผสาน หรืออาจใช้วิธีอื่นๆ เช่น วิทยุ เป็นต้น และการเรียนตั้งแต่ 2 แบบขึ้นไป โดยพิจารณาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดในพื้นที่ยึดหลักความปลอดภัย และความต้องการของนักเรียนและผู้ปกครองเป็นหลัก รวมถึงได้มอบหมายให้หน่วยงานต้นสังกัดออกแนวปฏิบัติ แนวทางลดภาระครู นักเรียนและผู้ปกครอง เพื่อแก้ปัญหาให้กับประชาชน หลังจากที่มีการจัดการเรียนการสอนไประยะหนึ่ง และ ตั้ง ศบค.ศธ. เพื่อติดตามสถานการณ์ แก้ไขปัญหา สนับสนุนการเรียนการสอน เพื่อให้การจัดการศึกษาให้เดินหน้าต่อไปได้โดยไม่หยุดชะงัก
“ศธ.ให้ความสำคัญและเน้นย้ำเรื่องความปลอดภัยของเด็กเป็นอย่างมาก เราทราบดีว่าการเรียนออนไลน์ ไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้ดีเท่ากับการเรียนที่โรงเรียน ซึ่ง ศธ. และรัฐบาล เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหานี้ โดย ศธ.ได้ประสานกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อจัดหาวัคซีนมาให้นักเรียนทุกคน แต่กลุ่มนักเรียนถือเป็นกลุ่มที่มีความละเอียดอ่อน และต้องมีความระมัดระวัง ดังนั้น เราจำเป็นที่จะต้องได้รับการยืนยันจาก สธ.ว่า วัคซีนตัวไหนที่มีความเหมาะสม เช่น วัคซีน Pfizer ที่จะมีการฉีดให้แก่เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป เป็นต้น และในกรณีที่สถานศึกษายังไม่สามารถเปิดสอนที่โรงเรียนได้ ศธ.ก็พยายามทำทุกวิถีทางที่จะช่วยให้เด็กเข้าถึงการเรียนรู้และแบ่งเบาภาระผู้ปกครอง เช่น สถานศึกษาคืน-ลด-ขยายเวลาผ่อนชำระ-ช่วยเหลือค่าเทอมนักเรียน ,เยียวยาค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา คนละ 2,000บาท , สนับสนุนอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์สำหรับนักเรียน , ปรับการเรียน การสอบเพื่อลดความกังวลของนักเรียน เป็นต้น” รมว.ศึกษาธิการกล่าว
น.ส.ตรีนุช กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ศธ.ยังได้จัดช่องทางช่วยเหลือนักเรียนที่ได้รับผลกระทบจากความเครียดในการเรียนออนไลน์ ,ค้นหาเด็กพิการ เด็กด้อยโอกาส ที่ตกหล่น ขาดโอกาสทางการศึกษา และนำนักเรียนเข้าระบบการศึกษา ,ช่วยเหลือนักเรียนกำพร้าที่บิดามารดาเสียชีวิตจากโควิด จำนวน 109 ราย และได้รับทุนมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ 14 ราย,จัดหาวัสดุเวชภัณฑ์ยาสำหรับเด็กพิการและครอบครัว จำนวน 27,474 ราย, ลดช่องว่างการเรียนและผลกระทบความรู้ที่ขาดหายไป โดยให้สถานศึกษายืดหยุ่นการใช้เงินงบประมาณตามนโยบายเรียนฟรี 15 ปีจัดการเติมเต็มให้นักเรียน เป็นรายบุคคล ซึ่ง ศธ.จะเดินหน้าจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพทั่วถึง โดยคำนึงถึงความปลอดภัยสูงสุดของทั้งนักเรียน ครู บุคลากรทางการศึกษา และผู้ปกครอง