คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2564 ตนได้เป็นประธานในการประชุมชี้แจงและมอบนโยบายการพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพผู้เรียนทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ภายใต้โครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ ให้แก่ผู้บริหารระดับเขตพื้นที่การศึกษาและผู้บริหารโรงเรียนในโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ ผ่านระบบ Video Conference และสื่อออนไลน์ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) โดยมีผู้เข้ารับฟังจำนวนกว่า 1,000 คน ทั่วประเทศ
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า โครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ เป็นโครงการเพื่อพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพผู้เรียน ตลอดจนเป็นการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับผู้เรียนที่มีความสนใจพิเศษด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีในทุกพื้นที่ โดยความร่วมมือระหว่าง สพฐ. สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยได้จัดทำแผนการดำเนินงานปีงบประมาณ พ.ศ. 2564-2565 ในระยะเตรียมการของโครงการเพื่อเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร ครูผู้สอน และโรงเรียน โดยได้ดำเนินการรับสมัครและคัดเลือกโรงเรียนเพื่อจัดตั้งเป็นโรงเรียนศูนย์ในโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ ซึ่ง สพฐ. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการจากหน่วยงานความร่วมมือเพื่อพิจารณาคัดเลือกโรงเรียนศูนย์ที่มีความพร้อมตามคุณสมบัติและมีศักยภาพในการเป็นโรงเรียนศูนย์ฯเรียบร้อยแล้ว โดยเป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ระดับละ 100 โรง
“ทั้ง 200 โรงเรียนที่ได้รับการคัดเลือกจะได้รับการพัฒนาเพื่อเป็นแม่ข่าย ไปขยายผลยังโรงเรียนอื่นๆ อีกอย่างน้อยโรงเรียนละ 10 โรง เพราะฉะนั้นภายในเวลา 3-5 ปี ทุกโรงเรียนในประเทศไทยจะได้รับการพัฒนาให้สามารถเปิดสอนวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมได้ทุกโรงเรียนทั้งประเทศ โดยโครงการนี้ไม่ได้ต้องการให้เด็กทุกคนเป็นนักวิทยาศาสตร์ แต่ทุกคนต้องเรียน วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) และนวัตกรรม (Innovation )หรือ STI ซึ่งเป็นความจำเป็นในยุคดิจิทัล ดังนั้นโครงการนี้จะให้เด็กได้เรียน STI ทุกชั้นปี”คุณหญิงกัลยากล่าว
คุณหญิงกัลยา กล่าวด้วยว่า ขณะนี้กำลังมีการปรับระบบการเรียนของโรงเรียนวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย โดยปรับจากการสอนแบบ STEM ที่มาจาก Science, Technology, Engineering และ Mathematics มาเป็น STEAM โดยเพิ่มเรื่องของ Arts เข้าไป เป็นการเน้นให้ผู้เรียนที่นอกจากเน้นการเรียนวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แล้วต้องไม่ลืมเรื่องของคุณธรรม จริยธรรม ศิลปะ วัฒนธรรม ความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลตามแบบสังคมไทย เป็นการเรียน Arts of life เพื่อให้ผู้เรียนเป็นคนที่ครบเครื่อง เป็นคนเก่งวิทยาศาสตร์ที่มีคุณธรรม ศีลธรรม มีความรู้เกี่ยวกับประเพณีวัฒนธรรมของไทยเป็นอย่างดี เพราะเรื่องเทคโนโลยีเราตามคนอื่นไม่ทัน พอไล่เขาทันเขาก็ล้ำหน้าไปอีกแล้ว เพราะฉะนั้นเด็กจะเก่งแต่ด้านวิทยาศาสตร์อย่างเดียวไม่พอแล้ว ถ้าเราเพิ่มเรื่องของ Arts หรือเรื่องของความดีงามเข้าไป เราจะสามารถเอาชนะเขาได้ เรื่องของคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีสามารถออกแบบกันได้ แต่เรื่องจินตนาการ คุณงามความดี เครื่องมีเองไม่ได้ เพราะฉะนั้นคนไม่ใช่เครื่องจึงควรต้องมีเรื่องของ Arts ซึ่งจะสามารถเอาชนะเครื่องได้อย่างแน่นอน