เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2564 น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการจ่ายเงินเยียวยาตามโครงการเงินกู้เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด 19 โดยช่วยเหลือภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา เพื่อบรรเทาผลกระทบของผู้ปกครอง นักเรียน และนักศึกษา คนละ 2,000 บาท ที่สถานศึกษารัฐและเอกชน สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ในจังหวัดนครปฐม ว่า วันนี้ตนได้มาตรวจเยี่ยมเพื่อดูว่า เงินจำนวน 2 หมื่นกว่าล้านบาท ที่รัฐบาลตั้งใจเยียวยานักเรียนและผู้ปกครอง ได้ลงไปถึงมือผู้ปกครองและนักเรียนเรียบร้อยดีหรือไม่ มีปัญหาอุปสรรคอย่างไรในขั้นตอนต่าง ๆ ซึ่ง ศธ.ได้มีการติดตามตลอดเวลา เพราะอยากให้กระบวนการต่าง ๆ มีความโปร่งใส ยืดหยุ่น และสะดวกที่สุดในการให้เงินถึงมือผู้ปกครอง ว่าจะเป็นการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร หรือ การรับเป็นเงินสด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์โควิด-19 ทางโรงเรียนก็ต้องมีมาตรการทางสาธารณสุข และจัดเวลาให้ผู้ปกครองและนักเรียนมารับเงินเพื่อไม่ให้เกิดความแออัด
“ปัญหาอุปสรรคที่พบก็มีบ้าง เช่น เด็กย้ายโรงเรียนระหว่างที่มีการอนุมัติโครงการ ดังนั้นชื่ออาจจะอยู่โรงเรียนหนึ่งแต่เด็กย้ายโรงเรียนไปแล้ว ทำให้การจ่ายเงินอาจจะล่าช้าไปบ้าง ซึ่งทางโรงเรียนก็ต้องประสานกันเพื่อแก้ไขปัญหา ส่วนกรณีที่โรงเรียนอาจจะยังไม่โอนเงินหรือจ่ายให้ผู้ปกครอง เนื่องจากยังไม่จ่ายค่าเทอมนั้น เรื่องนี้ได้ย้ำกับปลัดศธ. และผู้บริหารทุกหน่วยงานแล้วว่า เงินดังกล่าวเป็นเงินที่รัฐบาลตั้งใจให้ลดภาระความเดือดร้อนและเยียวยา นักเรียนและผู้ปกครองในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด19 เพราะฉะนั้นเงินจะต้องตรงไปถึงเด็กและผู้ปกครองทุกคนเต็มจำนวน 2,000 บาท”รมว.ศึกษาธิการ
ผู้สื่อข่าวถามว่า ทราบว่าการโอนเงินต่างธนาคาร ต่างสาขา ธนาคารคิดค่าธรรมเนียมโอนเงิน 8 บาท ซึ่งจำนวนนักเรียนทั้งหมดมีถึง 11 ล้านคน ถ้าเสียค่าธรรมเนียม100% ธนาคารจะได้เงินส่วนต่างตรงนี้ 88 ล้านบาท แต่ถ้าแค่ครึ่งเดียว หรือ 50% ธนาคารจะได้ส่วนต่างตรงนี้ถึง 40 กว่าล้านบาท นั้น น.ส.ตรีนุช กล่าวว่า เรื่องนี้ตนได้มีการทำความเข้าใจกับผู้บริหารแล้วว่า ถ้าต้องเสียค่าธรรมเนียมการโอนก็ให้ยืดหยุ่นให้จ่ายเป็นเงินสดได้
ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า โรงเรียนทราบปัญหาเรื่องค่าธรรมเนียมการโอนเงินตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน แล้ว และได้มีการแก้ปัญหาโดยการไปเบิกเงินสดออกมาเพื่อจ่ายให้ผู้ปกครองเป็นเงินสด ซึ่งสามารถลดภาระค่าธรรมเนียมโอนเงินได้บ้าง
ด้านดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) กล่าวว่า สพฐ.มีนักเรียนทั้งหมด 6,225,658 คน จำนวนเงินที่ต้องโอน 12,451.316 ล้านบาท โอนเงินให้เขตพื้นที่และหน่วยเบิกครบ 100% ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 จากนั้นวันที่ 2 กันยายน 2564 หน่วยเบิกและเขตพื้นที่ฯก็โอนต่อให้โรงเรียน แล้วโรงเรียนเริ่มทยอยส่งเงินให้ผู้ปกครองตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน 2564 โดยข้อมูลล่าสุดเงินถึงมือเด็กและผู้ปกครองไปแล้ว 37% ส่วนกรณีโอนต่างธนาคาร และต่างสาขา ตนให้ถอนเป็นเงินสด เพื่อไม่ให้มีค่าใช้จ่ายค่าธรรมเนียมการโอน ส่วนการจ่ายเงินสดก็มีหลายวิธี อาจจะให้ผู้ปกครองมารับที่โรงเรียน หรือ ครูนำไปให้ผู้ปกครองที่บ้านเหมือนการสอนด้วยระบบ on hand ที่ ครูต้องนำเอกสาร ใบงานไปส่งให้เด็กที่บ้านอยู่แล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่จริงแล้วกระทรวงศึกษาธิการ ได้ทำหนังสือเพื่อขอยกเว้นค่าธรรมเนียมดังกล่าวไปที่สมาคมธนาคารไทยแล้ว แต่สมาคมฯไม่รับพิจารณา