เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2564 วิทยาลัยอาชีวศึกษา(วอศ.) อุดรธานี จัดพิธีมอบประกาศนียบัตรผู้สำเร็จการศึกษา ระบบทวิวุฒิ ไทย–จีน ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ผ่านระบบ Online โดยความร่วมมือระหว่าง วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุดรธานีและChongqing City Management College(CCMC) สาธารณรัฐประชาชนจีนรุ่นที่ 2 ณ ห้องประชุมมูลนิธิ วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุดรธานี จันทรสว่างฝ่ายราชวอศ.อุดรธานี โดย เรืออากาศโทสมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เป็นประธานกล่าวเปิดและให้โอวาท
ดร.นิรุตต์ บุตรแสนลี ผู้อำนวยการวอศศ.อุดรธานี กล่าวรายงานว่า วอศ.อุดรธานี ได้ทำความร่วมมือกับ Chongqing City Management College (CCMC) ตั้งแต่ พ.ศ. 2560 โดยได้ร่วมวางแผนหลักสูตร ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.) ใช้ระยะเวลาในการศึกษา 3 ปี โดยศึกษาที่วอศ.อุดรธานี 1 ปี 6 เดือน และศึกษาที่ CCMC) อีก 1 ปี 6 เดือน โดยวอศ.อุดรธานี ได้ส่งนักศึกษาไปศึกษาที่ CCMC เป็นรุ่นที่ 2 แล้ว ในสาขาการจัดการโลจิสติกส์ สาขาการบัญชี และสาขาการท่องเที่ยว จำนวน 41 คน เมื่อสำเร็จการศึกษา นักศึกษาจะได้รับวุฒิการศึกษาของทั้ง 2 สถาบัน เป็นหลักสูตรทวิวุฒิ และผู้เรียนยังได้รับการสนับสนุนทุนการศึกษาเป็นค่าใช้จ่ายจาก CCMC ในระหว่างการศึกษาตลอดระยะเวลา 1 ปี 6 เดือน ที่ศึกษาที่ CCMC รวมทั้งสิ้น 36,200 หยวน หรือคิดเป็นเงินไทย 181,000 บาทต่อคน ประกอบด้วยค่าหน่วยกิตการเรียน ค่าหนังสือ ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าที่พักและค่าใช้จ่ายประจำวัน นอกจากนี้ผู้เรียนยังจะได้รับความรู้ประสบการณ์ ทักษะต่างๆ ในระดับนานาชาติ และมิตรภาพกับเพื่อนๆ ต่างแดน ซึ่งถือเป็นความสำเร็จและความภาคภูมิใจของวิทยาลัยและสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.)
“ปีนี้มีนักศึกษาหลักสูตรระบบทวิวุฒิ ไทย–จีน ที่เข้ารับประกาศนียบัตรใน 3 สาขาวิชาคือ สาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์ สาขาวิชาการบัญชี และสาขาวิชาการท่องเที่ยวจำนวน 41 คน ซึ่งถือเป็นการยกระดับการจัดการอาชีวศึกษาที่ทันสมัย รองรับการเปลี่ยนแปลงของพลวัต สอดคล้องกับโลกอาชีพแห่งอนาคตและนโยบายของรัฐบาลและ สอศ.ที่ต้องการผลักดันให้การอาชีวศึกษาเป็นกำลังหลักที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เพื่อให้ได้มาตรฐานสู่ระดับนานาชาติ”ดร.นิรุตต์กล่าว
เรืออากาศโทสมพร กล่าวว่า ขอชื่นชมวอศ.อุดรธานี ที่สามารถจัดการอาชีวศึกษาที่มีคุณภาพสูง ส่งผลต่อคุณภาพนักศึกษา ถือเป็นวิทยาลัยฯ ต้นแบบในการขับเคลื่อนนโยบายที่สำคัญของสอศ.ได้สำเร็จ ซึ่งการทำความร่วมมือกับต่างประเทศ ได้ให้ข้อคิดและนโยบาย แบบ KFC ดังนี้
K หมายถึง Knowledge นักศึกษาได้รับความรู้และประสบการณ์ การใช้ชีวิตในต่างแดน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะและความสามารถของนักศึกษาด้านวิชาชีพในด้านภาษาจีน ที่นักศึกษาอีกจำนวนมากหลายคนไม่มีโอกาสได้ไปเรียนรู้ ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน
F หมายถึง Friendship ได้มีมิตรภาพที่ดี กับเพื่อนต่างชาติ และครูอาจารย์ทั้ง CCMC และที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุดรธานี จนกระทั่งสำเร็จการศึกษา
และ C หมายถึง Connection ความสำเร็จที่เกิดขึ้นวิทยาลัยมีเครือข่ายความร่วมมือกับนานาชาติเพิ่มขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นแบบอย่างที่ดี เป็นภาพแห่งความสำเร็จในการจัดการศึกษาหลักสูตรทวิวุฒิ ที่สามารถเพิ่มขีดศักยภาพในการแข่งขันให้กับประเทศได้เป็นอย่างดี