เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2564 ที่กระทรวงศึกษาธิการ ..ตรีนุช เทียนทองรมว.ศึกษาธิการ ได้ร่วมแถลงข่าวจุดยืนลดภาระทางการศึกษาโดยมีพล..ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุลรักษาการณ์ เลขาธิการ กสทช.ร่วมในการแถลงข่าวผ่านระบบออนไลน์ด้วย  ทั้งนี้ เพื่อชี้แจงแนวทางในการช่วยเหลือนักเรียน ผู้ปกครอง และครู ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ( โควิด-19) ตามมาตรการลดภาระทางการศึกษา ของกระทรวงศึกษาธิการและรัฐบาล  ผ่านระบบออนไลน์

น.ส.ตรีนุช กล่าวว่า ด้วยปัจจุบัน ทั้งสถานศึกษา บุคลากรทางการศึกษา นักเรียน และผู้ปกครอง ต่างอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากในการศึกษาและการใช้ชีวิตในสถานการณ์โควิด-19 ที่ประสบกันทั่วโลก ทำให้ทุกภาคส่วนต้องปรับตัวกันครั้งใหญ่ เพื่อให้การศึกษาการเรียนรู้ยังคงสามารถเกิดขึ้นได้ภายใต้แนวคิด ผู้เรียนต้องไม่พลาดโอกาสในการเรียนรู้ ซึ่งจากการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบและอนุมัติงบฯเป็นกรณีพิเศษ เพื่อสนับสนุน เยียวยา และลดผลกระทบทางการศึกษาให้แก่สถานศึกษา ครูผู้สอน นักเรียนและผู้ปกครอง โดยแบ่งเป็น
1. เงิน “เยียวยานักเรียน” ทุกคนทุกสังกัดทั้งรัฐและเอกชน ตั้งแต่อนุบาลจนถึง ม.6 รวมถึงอาชีวศึกษา คนละ 2,000 บาท จำนวนประมาณ 11 ล้านคน จำนวน 22,000 ล้านบาท
2. การลดช่องว่างในการเรียน และผลกระทบจากความรู้ที่ขาดหายไป โดยให้สถานศึกษายืดหยุ่นการใช้งบประมาณตามนโยบายเรียนฟรี 15 ปี ทั้งค่าเล่าเรียน ค่าหนังสือ อุปกรณ์การเรียน เครื่องแบบนักเรียนและกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เพื่อให้สามารถใช้งบฯในส่วนที่จำเป็นในสถานการณ์โควิดได้อย่างเหมาะสม
3. การช่วยเหลือสนับสนุนการพัฒนาการศึกษา เพื่อให้ครูและบุคลากรทางการศึกษานำไปใช้ในการพัฒนาการเรียนการสอนได้อย่างหลากหลาย ทั้งค่าพาหนะในการดูแลเข้าถึงนักเรียน และอินเทอร์เน็ตฟรี

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้กระทรวงศึกษาธิการยังได้รับการสนับสนุนจาก กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ที่สนับสนุนอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์สำหรับการเรียนออนไลน์สำหรับนักเรียนเป็นเวลา 2 เดือนในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564

“ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการได้เตรียมความพร้อมในการกระจายเงินเยียวยานักเรียนแล้ว โดยตั้งเป้าหมายที่จะให้นักเรียนทุกคนได้รับเงินภายใน 7 วันหลังจากเงินมาถึงกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมกันนี้กระทรวงศึกษาธิการได้มีการตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนเพื่อช่วยเหลือผู้ปกครองที่ยังไม่ได้รับเงินอย่างทันท่วงทีด้วย”

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวและว่า อย่างไรก็ตามวันนี้กระทรวงศึกษาธิการได้มีการปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนการสอน การวัดผลที่มีความยืดหยุ่น เพื่อลดความเครียดให้ผู้เรียน ผู้สอนและผู้ปกครอง และสนับสนุนให้การเรียนรู้และการสอนสามารถเดินต่อไปได้ แม้จะเกิดสถานการณ์ที่ยากลำบาก แต่การเรียนรู้ต้องไม่หยุดนิ่ง ผู้เรียนต้องไม่พลาดโอกาสในการเรียนรู้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัจจุบันการเรียนรู้แบบชีวิตวิถีใหม่จำเป็นต้องปรับรูปแบบการเรียนการสอนมาเป็นการเรียนทางไกล ให้นักเรียนเรียนอยู่ที่บ้านได้โดยเทคโนโลยีมาช่วยผ่านระบบออนไลน์ ส่งผลให้ผู้ปกครองมีภาระค่าใช้จ่าย ซึ่งรัฐบาลเห็นความสำคัญของปัญหาและไม่ได้นิ่งนอนใจ จึงมีมาตรการช่วยเหลือเร่งด่วนทั้งโรงเรียน นักเรียน ผู้ปกครอง ตลอดจนบุคลากรทางการศึกษาทั้งมาตรการทางการเงิน อุปกรณ์ที่ใช้ในการเรียนการสอน เพื่อลดผลกระทบต่อการศึกษาของเยาวชนให้ได้มากที่สุด แม้ในสถานการณ์วิกฤติผู้เรียนต้องไม่พลาดโอกาสในการเรียนรู้ โดยรัฐได้มีนโยบายสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียม และปรับปรุงรูปแบบการเรียนรู้ที่ไม่ได้เน้นแต่เฉพาะความรู้ แต่ต้องสามารถนำองค์ความรู้ไปประยุกต์กับการดำเนินชีวิตได้

“ขอให้กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงดิจิทัลฯและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพัฒนารูปแบบการศึกษาให้สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตวิถีใหม่ ด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ ได้มาตรฐาน โดยสนับสนุนอุปกรณ์และอินเทอร์เน็ตที่จำเป็นต่อการศึกษาที่บ้าน เพื่อให้เด็กไทยได้รับการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ ได้รับความรู้อย่างครบถ้วน และมีศักยภาพสูง สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล พร้อมให้มีการกวดขันวินัย จริยธรรม คุณธรรม ศีลธรรม ประวัติศาสตร์ และความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการเติบโตเป็นคนดีของประเทศต่อไป”นายกฯกล่าวและว่า ขอให้ใช้โอกาสนี้ ให้ครู เด็ก ผู้ปกครองมีโอกาสเรียนรู้ไปด้วยกันในลักษณะActive Learning ขอให้มีการสร้างแรงจูงใจให้เด็กสนใจและเอาใจใส่ในการเรียนแม้อยู่ที่บ้านทำอย่างไรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งเคยให้แนวทางไปกับรมว.และรมช.ศึกษาธิการแล้วหลายครั้งก็ขอให้นำไปสู่การปฏิบัติให้ได้ มีการประเมินผลทั้งครูและเด็ก มีการเปลี่ยนแปลง ปรับรูปแบบ ปรับหลักสูตร เอกสารตำรา ให้มีความทันสมัย และสามารถสร้างแรงกระตุ้นให้เด็กรู้สึกว่าศึกษาเพื่ออะไร เพื่อการมีงานทำหรือเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของตัวเองให้คนอื่นยอมรับ สิ่งสำคัญคือเมื่อเรียนรู้ทางวิชาการแล้วต้องเรียนรู้การปฏิบัติไปพร้อมกันด้วย

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments