เมื่อวันที่ 5 ก.ค.2564 ที่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ได้จัดแถลงข่าวเปิดตัว “เครื่องจ่ายออกซิเจน KMITL High Flow” โดย ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า สจล. ได้เดินหน้าพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์เพื่อรองรับวิกฤตโควิด-19 นับตั้งแต่ระลอกแรกจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะการคิดค้นและลงมือสร้าง “เครื่องช่วยหายใจ” ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งในผู้ป่วยอาการหนัก ผ่านการผนวกรวมศาสตร์ความรู้ทางการแพทย์และวิศวกรรม โดยเริ่มที่เครื่องช่วยหายใจในภาวะฉุกเฉิน (Mini Emergency Ventilator) เพื่อรองรับผู้ป่วยติดเชื้อในปอดในภาวะฉุกเฉิน ทั้งอยู่ระหว่างการส่งตัวหรือรอเข้ารับการรักษาด้วยเครื่องช่วยหายใจของโรงพยาบาล และต่อเนื่องกับเครื่องช่วยหายใจในภาวะฉุกเฉินขนาดเล็ก (Transport Ventilator – KNIN) ที่ออกแบบให้สามารถใช้งานง่าย สะดวกต่อการเคลื่อนย้ายในกรณีฉุกเฉิน อีกทั้งยังรองรับการทำงานได้หลายโหมด ซึ่งในปัจจุบันได้พัฒนาออกมารวม 4 รุ่น ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สจล. ได้ส่งมอบนวัตกรรมทางการแพทย์แก่โรงพยาบาลและหน่วยงานสาธารณสุขทั่วประเทศมากกว่า 300 แห่ง เป็นจำนวนกว่า 1,000 ชิ้น

อธิการบดี สจล.กล่าวต่อไปว่า วันนี้ สจล. ได้คิดค้นและพัฒนาต้นแบบ “เครื่องจ่ายออกซิเจน KMITL High Flow” เครื่องจ่ายออกซิเจนในอัตราการไหลสูงเป็นครั้งแรก ที่มาพร้อมระบบมอนิเตอร์ทางไกล มุ่งลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโควิด-19 ให้น้อยลง ลดภาระงานและลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องเดินเข้า-ออกบริเวณหอผู้ป่วย ให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ในส่วนอื่นได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งได้รับการออกแบบมาเพื่อรับมือโควิดระลอกใหม่โดยเฉพาะ ซึ่งเวลานี้เครื่องนี้มีความสำคัญที่สุด และสจล.ได้พัฒนาและสร้างขึ้น ซึ่งข้อดีคือราคาเบื้องต้นเพียง 50,000 กว่าบาท ถูกกว่าราคาในต่างประเทศ 5-6 เท่า และการใช้งานก็ใช้ได้ง่ายกว่า บุคลากรทางการแพทย์สามารถควบคุมเครื่องจ่ายออกซิเจนผ่านโทรศัพท์มือถือได้ทุกที่ ทุกเวลา ตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งยังสามารถเซ็นเซอร์อาการตอบสนองของผู้ป่วยได้ทันท่วงที โดยไม่ต้องเข้าไปสัมผัสกับผู้ป่วย

“วันนี้เรามาประกาศว่าคนไทยสามารถทำเครื่องมือแพทย์ได้ดีกว่าต่างประเทศ และเครื่องนี้ก็กำลังจะถูกนำไปใช้ที่โรงพยาบาลวิภาราม ให้คนไข้ที่กำลังติดโควิด-19 ใช้ ทั้งนี้เพื่อพิสูจน์ว่าเครื่องจ่ายออกซิเจน KMITL High Flow ใช้งานได้จริงผ่านกระบวนการของคณะแพทย์และคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล.ที่ได้พัฒนาเครื่องมือร่วมกัน”ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวและว่า ทั้งนี้ตนอยากเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคเพื่อสร้างเครื่อง High Flow ผ่านบัญชีธนาคารกรุงไทยมูลนิธิโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารสู้ภัยโควิด-19 เพื่อจะได้นำเงินจากผู้มีสิทธิศรัทธาสร้างเครื่อง High Flow แจกจ่ายไปทั่วประเทศเหมือนที่ผ่านมา และในอนาคตเราจะพัฒนาเป็นระบบ AI

 

 

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments