เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2564 คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมสื่อสารสร้างความรู้ความเข้าใจการขับเคลื่อนนโยบาย “เด็กไทยวิถีใหม่ อ่านออกเขียนได้ทุกคน” เพื่อยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันระดับนานาชาติ ผ่านระบบออนไลน์ โดยมี ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)  นายกวินทร์เกียรติ นนธ์พละ รองเลขาธิการ กพฐ.  ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขต ผู้อำนวยการสถานศึกษาที่เปิดสอนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ศึกษานิเทศก์ที่รับผิดชอบงานภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ การวัดและประเมินผล รวมถึงครูผู้สอนภาษาไทย คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ เข้าร่วม ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า วันนี้ถือเป็นวันสำคัญที่กระทรวงศึกษาธิการจะขับเคลื่อนและส่งเสริมและพัฒนาการเรียนการสอนภาษาไทย คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ เพื่อให้ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะการอ่าน การเขียน การคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ และการคิดอย่างมีวิจารณญาณ โดยเชื่อมโยงความรู้กับกระบวนการเรียนรู้ และการจัดกิจกรรมส่งเสริมผู้เรียนให้มีการพัฒนาทักษะไปสู่ศตวรรษที่ 21 และการเตรียมความพร้อมการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล ปี 2564 (Programme for International Student Assessment หรือ PISA) โดยตั้งเป้าหมายความสำเร็จไว้ เพื่อให้นักเรียน ชั้น ป. 1-3 ทุกคน อ่านออกเขียนได้ นักเรียน ชั้น ป.  4-5 อ่านคล่องเขียนคล่อง และนักเรียน ชั้น ม. 1-6 มีสมรรถนะการอ่านขั้นสูง ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนและขับเคลื่อนการศึกษาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา โดยเฉพาะการพัฒนาด้านการใช้ภาษาไทยที่ถือเป็นเอกลักษณ์ของชาติ เป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจและความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน นอกจากนี้ยังเป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้ประสบการณ์จากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ เพื่อพัฒนาความรู้ พัฒนากระบวนการคิดวิเคราะห์ วิจารณ์และสร้างสรรค์ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ตลอดจนการนำไปใช้ในการพัฒนาอาชีพต่อไป

สำหรับการดำเนินการขับเคลื่อนนโยบาย “เด็กไทยวิถีใหม่ อ่านออกเขียนได้ทุกคน” เพื่อยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันระดับนานาชาติ แบ่งการดำเนินงานเป็น 3 ระยะ คือ  ระยะที่ 1 การประชุมสื่อสารสร้างความรู้ความเข้าใจ ในการขับเคลื่อนนโยบาย และการอบรมวิทยากรแกนนำ  ระยะที่ 2 การอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับครูผู้สอนทุกโรงเรียน และ  ระยะที่ 3 การขยายผลสู่ครูผู้สอนทุกคนในโรงเรียน และติดตามการนำองค์ความรู้สู่การปฏิบัติ

“อย่างไรก็ตามครูและนักเรียน ควรจะนำข้อสอบปีก่อน มาลองทำก่อน และสังเกตนักเรียนและครูมีความเข้าใจข้อสอบหรือไม่ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาและแก้ไขปัญหา ทั้งนี้การพัฒนาครู เพื่อให้ครูนำไปสอนเด็กให้คิดอ่านได้อย่างลึกซึ้ง ไม่ใช่การอ่านเพื่อนำไปสอบเหมือนที่ผ่านมา  และไม่เฉพาะครูสังกัด สพฐ.เท่านั้น แต่จะพัฒนาความรู้ครูในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และสังกัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) ด้วย ถ้าเราสามารถยกระดับคุณภาพการศึกษาของเด็กด้านการอ่าน โดยส่งเสริมให้เด็กอ่านรู้เรื่อง ตีความได้ ก็จะทำให้เด็กสามารถเรียนวิชาอื่นได้ดี ซึ่งจะทำให้เห็นว่าเด็กไทยมีศักยภาพ มีความสามารถไม่แพ้ชาติใดในโลก” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments