เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมหารือการจัดระบบดูแลสุขภาพจิตผู้เรียน (Learning support) ในสถานศึกษา ร่วมกับ ดร.กมล รอดคล้าย ที่ปรึกษา รมช.ศึกษาธิการ ดร.พะโยม ชิณวงศ์ ประธานคณะทำงาน รมช.ศึกษาธิการ รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ผู้แทนสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัย(กศน.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) โดย ดร.กนกวรรณ กล่าวตอนหนึ่งว่า วันนี้เป็นการหารือการจัดระบบดูแลสุขภาพจิตผู้เรียน เพื่อนำไปสู่การทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกับศูนย์คุณธรรม (องค์กรมหาชน) เพื่อขับเคลื่อนการดูแลลูกหลานนักเรียน นักศึกษา และผู้เรียน ด้วยเทคนิคการสะท้อนคิด (Reflection) โดยใช้ “อาข่าโมเดล” กรณีศึกษาดอยตุง (Home room) เพื่อรับฟังเสียงผู้เรียนของเรา ด้วยคำถาม 3 คำถาม ประกอบด้วย รู้สึกอย่างไร เรียนรู้อะไร และทำอย่างไรต่อ ซึ่งมีโรงเรียนที่นำไปใช้จนประสบความสำเร็จแล้ว เช่น โรงเรียนมารีย์อนุสรณ์ จ.บุรีรัมย์ โรงเรียนบ้านตะโกล่าง จ.ราชบุรี เป็นต้น
“ความร่วมมือครั้งนี้ สอดคล้องกับงานของสำนักงาน กศน. ที่กระจายอยู่ในชุมชนทั่วประเทศ และการพัฒนาศูนย์ Active center ที่ให้คำปรึกษาแนะนำแก่นักศึกษาในเรื่องต่าง ๆ ต่อยอดไปสู่ศูนย์เรียนรู้ My care system เพื่อดูแลและรับฟังนักศึกษา จัดให้มีระบบคัดกรอง ระบบการส่งต่อ ระบบการบริหารจัดการ การพูดคุยและการพัฒนากิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่นักศึกษา กศน. ที่ไม่เพียงมุ่งเน้นแต่เรื่องความฉลาดทางด้านสติปัญญา (Intelligence Quotient :IQ ) เท่านั้น แต่จะมุ่งพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Quotient: EQ) ด้วย พร้อม ๆ กับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้สนับสนุนส่งเสริมลงสู่ระดับชุมชน เพื่อสร้างรูปแบบคุณธรรมจากแนวคิดการสะท้อนคิด จากครอบครัว ชุมชน และสังคมไปพร้อมกัน”รมช.ศึกษาธิการกล่าว
รศ.นพ.สุริยเดว กล่าวว่า ขอขอบคุณกระทรวงศึกษาธิการที่ให้โอกาสในการร่วมแก้วิกฤติให้กลายเป็นโอกาส โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่แม้แต่ผู้ปกครอง ครู และตัวเด็กเอง ก็มีภาวะตึงเครียด ดังนั้น การนำเทคนิคการสะท้อนคิดดังกล่าว ด้วยคำถามเพียง 3 คำถาม ซึ่งเป็นเทคนิคที่สามารถปรับใช้ในสถานศึกษาทั่วประเทศ รวมทั้งครอบครัวและชุมชน โดยเทคนิคการสะท้อนคิดจาก 3 คำถาม ทำให้เราสามารถถอดรหัสความรู้สึกนึกคิดของเด็ก เป็นกระบวนการลดความตึงเครียดระหว่างกัน เริ่มจากการค้นหาจุดที่มีปัญหา เพื่อนำไปสู่การคลี่คลายสภาวะความตึงเครียด โดยสามารถใช้ในครอบครัว และในสถานศึกษา ด้วยวิธีโฮมรูม เพื่อรับฟังเสียงสะท้อน แทนการให้ข้อมูล และจะทำให้เราได้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ การได้รับอารมณ์และความรู้สึกของเด็กทั้งห้อง หรือแม้แต่พ่อแม่ ผู้ปกครองเอง ก็สามารถใช้คำถามเพื่อรับฟังความคิดของบุตรหลานได้เช่นกัน
ผอ.ศูนย์คุณธรรมฯ กล่าวว่า มีตัวอย่างโรงเรียนคุณธรรมที่ประสบความสำเร็จแล้ว 2-3 แห่ง ที่นำเทคนิคการสะท้อนคิดไปใช้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมทั้งระบบ ดังนั้น หากสำนักงาน กศน. จะนำไปใช้ ก็จะเกิดเป็นศูนย์เซ็นเตอร์ (Center) ที่สามารถเกื้อกูลกันด้วยความเข้าใจ เชื่อมโยงสู่คนในชุมชนตามบทบาทของ กศน. พัฒนาไปสู่ระบบธนาคารจิตอาสา ที่มีระบบบริหารจัดการ การบริการ มีระบบส่งต่อ ตลอดจนเป็นพี่เลี้ยง ที่ปรึกษา ของครูหรือบุคลากรที่มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี เพื่อเปิดใจคุยกันระหว่างผู้เรียนและพี่เลี้ยง ซึ่งจะเป็นบันไดก้าวแรกในการยกระดับกศน.เป็นองค์กรแห่งคุณธรรมได้ในที่สุด
“สำหรับที่มาของเทคนิค 3 คำถาม เกิดจากการถอดบทเรียนชาวอาข่า บนดอยตุง ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ขาดโอกาสในการเรียนหนังสือ แต่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข จึงถือว่าเป็นเทคนิคที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะในสถานกาณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เช่นนี้ ซึ่งยังต้องเรียนรู้ผ่านออนไลน์ อาข่าโมเดลจึงเป็นอีกทางออก ที่จะช่วยลดภาวะความตึงเครียด เพราะทำให้เรารู้สาเหตุ และใช้ความเป็นจิตอาสาในการแก้ปัญหาให้กันและกันต่อไป”รศ.นพ.สุริยเดวกล่าว