เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2564 น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับผู้บริหารองค์กรหลัก ของ ศธ. เพื่อรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่ง ศธ.ได้ออกแบบการเรียนรู้ไว้ 5 รูปแบบ คือ On-site,On-air, On-demand,Online และ On-hand แต่ก็ไม่สามารถทำให้เด็กได้ความรู้อย่างเต็มที่ เหมือนกับเรียนในสถานการณ์ปกติ จึงมีข้อสรุปว่า จะการวัดและประเมินผลนักเรียนใหม่ โดยจะปรับตัวชี้วัดต้องรู้ ควรรู้และน่าจะรู้ ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ให้เหลือแค่ตัวชี้วัดต้องรู้เท่านั้น ส่วนกิจกรรมที่มีการรวมตัวกัน หรือกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ก็ให้ยกเลิกทั้งหมด นอกจากนี้ขอให้ครูให้การบ้านเด็กน้อยลง โดยขอให้โรงเรียนและครูมาหารือร่วมกันว่าใน 1 สัปดาห์ เด็กควรจะได้การบ้านมากน้อยแค่ไหน เพื่อให้ผู้เรียนไม่เกิดความเครียด ทั้งนี้ การเรียนออนไลน์นี้ต้องยืดหยุ่นเรื่องเวลาเรียนมากขึ้น โดยขอให้ลดการสอนเนื้อหาวิชาการ และเน้นให้เด็กลงมือปฏิบัติ
“ภายในเดือนมิถุนายนนี้ ศธ.จะออกแนวปฏิบัติเรื่องการวัดและประเมินผล ที่เป็นมาตรฐานกลาง เพื่อให้สถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ไปปรับใช้ตามบริบทของพื้นที่ โดยสถานศึกษาจะเป็นผู้คัดเลือกว่าสิ่งไหนจำเป็น สิ่งไหนเด็กควรรู้” น.ส.ตรีนุช กล่าวและว่า เมื่อมีการประเมินและปรับตัวชี้วัดใหม่แล้ว การวัดและประเมินผลครู ก็ต้องปรับเปลี่ยนให้สอดรับไปในทิศทางเดียวกันด้วย ซึ่งตนได้มอบหมายให้ รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ไปปรับการวัดและประเมินครูใหม่ รวมทั้งปรับระบบการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ สำหรับนักศึกษา ครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ด้วย เพราะปัจจุบันนักศึกษาครูไม่สามารถฝึกปฏิบัติการสอนในโรงเรียนได้ โดยอาจจะปรับแก้หลักเกณฑ์ให้นักศึกษาเข้ามาช่วยสอนนักเรียนในชุมชน เป็นต้น ซึ่งทาง ก.ค.ศ.จะหารือกับ สภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ทปคศ.) และคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) ต่อไป