ที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เมื่อเร็ว ๆ นี้ ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการประธานการประชุมสภาการศึกษา (กกส.) ครั้งที่ 3/2564 เปิดเผยว่า ในการประชุมกกส. ที่ประชุม มีวาระสำคัญพิจารณาหลายเรื่อง โดย สกศ. รายงานผลการศึกษาปีการศึกษาเฉลี่ยของประชากรไทย 2563 ที่สะท้อนข้อมูลจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยของวัยแรงงานกลุ่มอายุ 15 – 59 ปี เท่ากับ 9.86 ปี ยังห่างจากค่าเป้าหมายถึง 2.64 ปี จากเป้าหมายในปี 2579 ตามแผนการศึกษาแห่งชาติ อยู่ที่ 12.5 ปี ดังนั้น จำเป็นต้องปฏิรูปการศึกษาให้เกิดรูปธรรมชัดเจน ขับเคลื่อนภายใต้กฎหมายการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ จัดระบบการเรียนรู้ใหม่ ๆ เช่น การจัดการศึกษาโดยครอบครัว (โฮมสคูล) ที่ต้องได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องและเข้มแข็ง ตลอดจนเร่งปรับเปลี่ยนรูปแบบและหลักสูตรการเรียนการสอนที่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว สนับสนุนการพัฒนาทักษะ ปรับทักษะ และสร้างทักษะใหม่ให้กับวัยแรงงานให้มีความรู้และสามารถเรียนต่อได้สูงขึ้น
“การเพิ่มจำนวนปีการศึกษาของคนไทยที่มากขึ้นทั้งเชิงปริมาณควบคู่กับเชิงคุณภาพสอดรับกับผู้เรียนปัจจุบันที่แสวงหาความรู้เชิงสมรรถนะมากขึ้น ดิฉันจึงมีข้อเสนอแนะว่าให้เร่งขับเคลื่อนจัดสรรงบประมาณทางการศึกษาให้มีความสอดคล้องความต้องการและความจำเป็นของสถานศึกษาแต่ละขนาดที่มีความแตกต่างกัน เสนอปรับหลักสูตรการเรียนการสอนแบบข้ามสาขาวิชาเพื่อพัฒนาให้เด็กมีทักษะรองรับการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ ๒๑ รวมถึงการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ปรับการจัดการเรียนการสอนแบบ Non-Degree การใช้กรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) และระบบคลังหน่วยกิต (Credit bank) ที่มีการกำหนดผลลัพธ์ของการเรียนรู้เน้นสมรรถนะที่จำเป็นในตลาดแรงงานพัฒนาไปสู่การจัดทำคลังสมรรถนะของประเทศไทยมาใช้”รมช.ศึกษาธิการ กล่าว
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบมอบหมายสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ดำเนินการออกหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับวิชาสามัญเพิ่มเติมโดยคำแนะนำของมหาเถรสมาคม (มส.) เพื่อประโยชน์ในการรับรองวิทยฐานะให้แก่สามเณรที่ศึกษาในโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลีสนามหลวงและแผนกธรรมสนามหลวง ตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นการรับรองวิทยฐานะให้กับการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีสนามหลวง และแผนกธรรมสนามหลวง รวมทั้งกำหนดรูปแบบการเทียบโอนระดับการศึกษาและคุณวุฒิที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันด้วย
ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าวอีกว่า ที่ประชุมได้มอบหมาย สกศ. ปรับปรุงร่างดัชนีการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประเทศไทย ที่ได้ศึกษาจากตัวชี้วัดที่มีอยู่แล้วในประเทศไทยในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา นำมาสังเคราะห์เพื่อแสดงรายละเอียดมิติและตัวชี้วัดจำแนกตามจังหวัด จำเป็นต้องพัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ที่เข้มแข็ง ตรงจุด และสอดคล้องวิถีชีวิตปัจจุบันภายใต้เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) เริ่มตั้งแต่แรกเกิดถึงสูงวัย เน้นเพิ่มขีดความสามารถในการใช้เครื่องมือเพื่อการเรียนรู้และการพัฒนาคุณลักษณะนิสัยใฝ่รู้อย่างมีวิจารณญาณ และปรับเนื้อหาให้มีความสอดคล้องร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. และร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. …. ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) และอยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถนำข้อมูลไปวิเคราะห์และใช้ประโยชน์จากข้อมูลในการวางแผนยกระดับการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตของจังหวัดและภูมิภาคได้