นายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) กล่าวถึงกรณีที่ ชมรมผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย (ช.ผอ.สพท.) ได้เข้าพบนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เพื่อสอบถามความคืบหน้า การแก้ไขคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยนายวิษณุให้คำตอบทำนองว่า การแก้ไขคำสั่ง คสช.ค่อนข้างยาก และแนะนำให้เสนอแนวปฏิบัติที่เป็นปัญหาให้ คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.)เพื่อ กอปศ.เสนอรัฐบาลแทน ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างแก้กฎหมายในเรื่องที่เป็นปัญหา และมีการประกาศใช้อำนาจหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) แก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญ 2560 และประกอบมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวทั้งระบบ
“นายวิษณุ คงอยากให้ไปสอบถามความคิดเห็นของกอปศ. ด้วย เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และเป็นมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตั้งแต่ปี2560 ระบุว่า อะไรที่มีการแก้ไขปัญหาโดยคำสั่ง คสช. ให้นำเรื่องดังกล่าว มาใส่ไว้ในการปรับปรุงกฎหมายใหม่ ซึ่งในส่วนของการปฏิรูปการศึกษา ในส่วนภูมิภาค จะมีการปรับปรุง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยที่ผ่านมา ได้มีการทำควบคู่กับการเสนอขอแก้ไขคำสั่ง ม.44 อยู่แล้ว เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างผู้อำนวยการ สพท. และศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ที่เกิดจากข้อที่ 13 ซึ่งเดิมกำหนดให้อำนาจการบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในจังหวัด และกรุงเทพฯ ตามมาตรา 53(3) และ (4) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้เป็นของ ศธจ.โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) จากเดิมที่เป็นอำนาจของผู้อำนวยการการ สพท.และผู้อำนวยการโรงเรียน โดยในร่างพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูฯ ฉบับปรับปรุง อาจจะให้มี คณะอนุกรรมการศึกษาธิการจังหวัด( อกศจ.) ขึ้นมาพิจารณาเรื่องงานบุคคล และให้อำนาจการบรรจุแต่งตั้ง ตามมาตรา 53(3) และ (4) กลับไปเป็นอำนาจของสพท. อย่างเดิมด้วย ตอนนี้ทุกอย่างถูกนำไปกำหนดไว้ในร่างพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครู ฯ ที่กำลังปรับปรุงใหม่เรียบร้อยแล้ว และอยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็น”นายพินิจศักดิ์กล่าว
ด้าน ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ตนได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้อำนวยการ สพท. และผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเท่าที่ดูทุกคนเข้าใจ และให้การสนับสนุน โดยทางออกที่ยั่งยืน คือ การแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูฯ ซึ่งสำนักงานก.ค.ศ. กำลังดำเนินการ และรับฟังความคิดเห็น