เมื่อวันที่ 20 พ.ค.2564 ดร.สมใจ วิเศษทักษิณ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานคร เขต1(ผอ.สพม.กท.1) เปิดเผยว่า ได้สื่อสารสร้างการรับรู้ไปยังประธานกลุ่มโรงเรียน ผู้อำนวยการสถานศึกษา ครู บุคลากรทางการศึกษา ผู้ปกครอง และนักเรียน ถึงแนวทางปฏิบัติที่จะเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน เพื่อให้เข้าใจตรงกันว่ากระทรวงศึกษาธิการ โดย นางสาวตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ และ ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)มีความห่วงใย พี่ น้อง ครู บุคลากร ผู้ปกครอง และนักเรียน ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยและความสบายใจของผู้ปกครองนักเรียน ทางสพม.กท.1 จึงถือโอกาสสื่อสารไปถึงพี่ น้อง ครูว่า ก่อนเปิดภาคเรียน เราจะต้องเตรียมความพร้อม ในการขับเคลื่อนความปลอดภัยไปสู่สถานศึกษา ซึ่งโรงเรียนต้องเตรียมความพร้อมในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นความพร้อมในด้านอาคารสถานที่ ด้าน ครูและบุคลากรทางการศึกษา ด้านวัสดุอุปกรณ์ ตลอดทั้งความพร้อมของผู้ปกครอง และนักเรียน
ผอ.สพม.กท.1 กล่าวต่อไปว่า ในมิติความพร้อมของครู โชคดีที่ รมว.ศึกษาธิการได้ลงทะเบียนให้ครู ไปรับบริการฉีดวัคซีนให้แล้วเสร็จก่อนเปิดภาคเรียน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ปกครอง และความพร้อมของครูอีกมิติหนึ่งคือการเตรียมการที่จะดูแลจัดผู้เรียนเข้าสู่ระบบ จัดเตรียมการสื่อสารสร้างการรับรู้ โดยเฉพาะนักเรียนจะต้องมีการทดสอบระบบก่อนที่จะเปิดเรียนจริง เพื่อให้นักเรียนเข้าถึงและเข้าใจตรงกันว่า จะทำอะไร เมื่อไหร่ อย่างไร รวมถึงการเตรียมความพร้อมทางด้านวัสดุอุปกรณ์ ห้องเรียนจัดสอนออนไลน์ เพราะขณะนี้ ทุกโรงเรียนในกรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่สีแดง ที่ผ่านมาเราเห็นภาพความสำเร็จ เห็นภาพความล้มเหลว เห็นปัญหาอุปสรรค ซึ่งทั้งหลายทั้งมวลนี้เราได้หาวิธีแก้ไขปัญหาโดยใช้หลักการมีส่วนร่วม เพื่อให้การเรียนการสอนเกิดคุณภาพ
“ขอให้นักเรียนทุกคนประเมินตนเองก่อนที่จะมาโรงเรียนว่าเรามีสถานะกลุ่มเสี่ยงขนาดไหน อย่างไร ทั้งนี้เพื่อสร้างความรับรู้นักเรียนเป็นรายบุคคล ครูและบุคลากรเองก็เช่นเดียวกันต้องประเมินตัวเองด้วยเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักเรียน และผู้ปกครอง และผู้ปกครองเองก็ต้องให้ความร่วมมือ ช่วยกำชับลูกหลานที่จะมาโรงเรียนดูแลตัวเองด้วย ถ้าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือใกล้กลุ่มเสี่ยงก็ต้องประเมินตัวเองทุกครั้งก่อนที่จะมาโรงเรียน เพื่อที่เราจะได้คัดกรองแยกกลุ่มดูแลอย่างทั่วถึง เพราะความปลอดภัยต้องมาก่อน”ดร.สมใจ กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ได้ใช้รูปแบบการเรียนหลากหลายรูปแบบ ดังนั้นเราจะต้องไปคิดร่วมกันว่านักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 จะต้องออนไลน์ออนไซด์ กี่วัน กี่ชั่วโมง รวมถึงระดับอื่นด้วยก็ต้องวางแผนการเรียนด้วยเช่นกัน และหลังเลิกเรียนก็ต้องปฏิบัติตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข ศบค.และพื้นที่นั้น ๆ อย่างเคร่งครัด
ผอ.สพม.กท.1 กล่าวอีกว่า สำหรับการสอบคัดเลือกนักเรียน เรียนต่อม1 ม.4 ในวันที่ 22-23 พ.ค.นี้นั้น เลขาธิการ กพฐ.มีนโยบายชัดเจนว่าให้สอบเฉพาะโรงเรียนที่มีนักเรียนสมัครเกินจำนวนโรงเรียนรับได้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนแข่งขันสูง ซึ่งในเขตสพม.กท.1 มีจำนวน 46 โรงเรียน จึงฝากไปถึงผู้บริหารโรงเรียน ครู และบุคลากรทุกท่าน ให้ใช้มาตรการ และให้สร้างการรับรู้ให้กับผู้ปกครองและนักเรียน ให้ประเมินตนเอง และคัดกรองนักเรียนเป็นรายบุคคล จัดห้องสอบตามมาตรการที่ ศบค.กำหนด ถ้านักเรียนกลุ่มใดเป็นกลุ่มเสี่ยงให้แยกออกไปสอบอีกจุดหนึ่งที่อยู่ห่างจากนักเรียนที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง หรือหากนักเรียนมีความจำเป็นจริงๆไม่สามารถมาสอบได้ โรงเรียนอาจบริการถึงพื้นที่ที่นักเรียนอยู่ โดยให้ประสานงานกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง กรณีนักเรียนอยู่โรงพยาบาล ถ้านักเรียนพร้อมที่จะสอบ ก็ให้เอาแบบทดสอบไปให้นักเรียนสอบได้ ซึ่งการสอบเราสอบไม่นานอยู่แล้ว ทั้งนี้ขอให้อยู่ในดุลพินิจของโรงเรียนอีกครั้ง ส่วนเรื่องการรายงานตัวนักเรียนที่สอบได้ การปฐมนิเทศนักเรียน ก็ขอให้โรงเรียนไปบริหารจัดการ โดยให้ยึดเรื่องความปลอดภัย เป็นสำคัญ