นายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครุและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา(สกสค.) กล่าวกรณีที่กลุ่มครูประกาศยุติดชำระหนี้โครงการเงินกู้ ช.พ.ค.ว่า เท่าที่ทราบ เมื่อวันที่ 14 ก.ค.ที่ผ่านมา เป็นการประชุมที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเชิญครูมาเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องของความเป็นครูและความก้าวหน้าของครู ซึ่งมีครูมาร่วมประมาณ 400 กว่าคน หลังประชุมเสร็จก็เดินทางกลับ ส่วนกลุ่มที่เป็นตัวตั้งตัวตีชวนครูยุติการชำระหนี้เป็นครูนอกราชการทั้งหมด
นายพินิจศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับเรื่องปัญหาหนี้สินครูนั้น ที่ผ่านมารัฐบาลได้รับทราบปัญหามาตลอดซึ่งก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้มอบให้กระทรวงศึกษาธิการร่วมกับกระทรวงการคลังไขปัญหา โดยมีโครงการแก้ปัญหาหนี้สินครูมาเป็นระยะ ตั้งแต่โครงการลดภาระหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา , การปรับโครงสร้างหนี้ , การที่ สกสค.ไม่รับเงินสนับสนุนพิเศษแต่ให้นำไปปรับลดดอกเบี้ยให้แก่ผู้กู้ที่มีวินัยทางการเงินที่ดี เป็นต้น และล่าสุดเมื่อวันที่ 25 พ.ค. พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ได้มีหนังสือถึง รมว.ศึกษาธิการ ให้กระทรวงศึกษาธิการ เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู โดยให้ตั้งคณะทำงานจัดทำข้อเสนอแนะและแนวทางแก้ไขปัญหาเสนอต่อนายกรัฐมนตรีภายในเดือนสิงหาคมนี้
นายพินิจศักดิ์ กล่าว่า ตั้งแต่เปิดโครงการเงินกู้ ช.พ.ค. 1-7 มีครูเข้าร่วมโครงการรวมทั้งสิ้น 9.3 แสนกว่าคน เป็นเงิน กว่า 7.6 แสนล้านบาท และข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 30 เม.ย.2561 พบว่า เหลือครูที่ยังเป็นหนี้โครงการเงินกู้ ช.พ.ค.อยู่ 4.8 แสนราย เป็นเงิน 4.1 แสนล้านบาท และเมื่อมีการเปิดโครงการแก้ปัญหาหนี้สินครูหลายโครงการก็มีครูเข้าร่วมมาเป็นระยะ โดยเฉพาะโครงการลดดอกเบี้ยให้ครูที่มีวินัยทางการเงินที่ดี มีครูได้รับประโยชน์มากกว่า 3.7 แสนราย ทำให้ลดดอกเบี้ยได้ถึงปีละ 2.5 พันล้านบาท ทั้งนี้จะมีเพียง 6.5 หมื่นรายที่ไม่ได้รับการลดดอกเบี้ย เพราะมียอดหนี้ค้างชำระ ไม่มาปรับโครงสร้าง หรือ อยู่ระหว่างปรับโครงสร้าง เหลืออีกประมาณ 2 หมื่นกว่ารายที่ยังตามตัวไม่ได้ ซึ่งจะขอให้ธนาคารออมสินพิจารณาว่าจะให้ครูกลุ่มนี้เข้าร่วมโครงการใดได้อีกบ้าง เนื่องจากขณะนี้มีบางโครงการที่ยังไม่สิ้นสุดระยะเวลาดำเนินการ
“แสดงให้เห็นว่า ครูส่วนใหญ่ไม่ได้คิดแบบครูกลุ่มดังกล่าว และเชื่อว่าครูที่มีวินัยทางการเงินที่ดีไม่มีความประสงค์เช่นนั้นแน่นอน เพราะครูต้องเป็นแบบอย่างที่ดี อีกอย่างธนาคารออมสินก็มีลูกหนี้หลายกลุ่มไม่ได้มีเฉพาะครูเท่านั้น อย่างไรก็ตามก่อนที่จะมีการอนุมัติเงินกู้อยากให้มีการตรวจสอบเครดิตบูโรก่อนว่าครูมีความสามารถในการชำระหนี้หรือไม่”นายพินิจศักดิ์กล่าว
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้สอบถามถึงกรณีปฏิญญามหาสารคาม และได้มอบให้ชี้แจงข้อเรียกร้องต่างๆที่เสนอมา จากที่ได้ติดตามจะเห็นได้ว่าครูส่วนใหญ่ไม่ได้เห็นด้วย แต่เป็นข้อเสนอของครูกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ทั้งนี้ ที่ผ่าน สกสค.และธนาคารออมสิน ก็ได้ทำข้อตกลงร่วมกันแก้ไขปัญหาหนี้สินครูมาตลอด ลดดอกเบี้ยให้ 0.5-1% ครั้งนั้น ธ.ออมสินแถลงชัดเจนมีครูที่เป็นลูกหนี้ชั้นดี 90% ส่วนอีก 10% ที่มีปัญหาก็เป็นเรื่องที่ธ.ออมสิน ต้องไปติดตามในฐานะเจ้าหนี้ ซึ่งเชื่อว่าสามารถติดตามได้เพราะเรื่องนี้ควรจะจบ
“กระแสครูส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับปฏิญญานี้ ดังนั้น อย่าเพิ่งเหมารวมภาพลักษณ์ครูไม่ดี หรือการที่อ้างว่าครูมีพฤติกรรมแบบนี้คงไม่ใช่ ตอนนี้ในสังคมมีการแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อต่างๆอยู่แล้ว ครูกลุ่มนี้เขาก็โดนสังคมประณามแล้ว และทุกคนก็ต้องทำตามกฎหมาย”นพ.ธีระเกียรติ กล่าว