เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ กล่าวภายหลังการแถลงข่าวการเตรียมความพร้อมการเปิดภาคเรียนประจำปีการศึกษา 2564 ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ของกระทรวงศึกษาธิการ  ว่า ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ได้เลื่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ของสถานศึกษาในสังกัด เป็นวันที่ 1 มิ.ย.64 เนื่องจากสถานการณ์โดยรวมการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ระลอกสามยังมีความรุนแรง ดังนั้น เพื่อไม่ให้เด็กเสียโอกาสในการเรียนรู้ ผู้ปกครองมั่นใจในความปลอดภัยของบุตร หลาน  ศธ. จึงได้เตรียมความพร้อมในการจัดการศึกษา โดยได้วางแผนการดำเนินงานออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่หนึ่ง ตั้งแต่วันที่ 17-31 พ.ค. ก่อนเปิดภาคเรียน 11 วันทำการ จะเป็นการเตรียมความพร้อมของทั้งครูและนักเรียน โดยมีการจัดกิจกรรมเสริมความรู้การจัดการเรียนรู้ที่น่าสนใจ เช่น เปิดโอกาสให้เด็กเรียนรู้ถึงทักษะชีวิตที่จำเป็นจากเหตุการณ์ร่วมสมัย จัดการเรียนรู้ของจริง ประสบการณ์จริง เพื่อทำให้การเรียนรู้ของเด็กไทยต่อเนื่องไม่หยุดชะงักลง ซึ่ง ศธ.จะจัดทีมพี่เลี้ยงเพื่อให้คำปรึกษาแก่ครูในการจัดกิจกรรมตามแนวทางดังกล่าว โดยอาจเริ่มจากประเด็นการเรียนรู้ในเรื่องสถานการณ์โควิดเป็นลำดับแรก

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า สำหรับระยะที่สอง ตั้งแต่ วันที่ 1 มิ.ย.เป็นต้นไป จะเป็นการจัดการเรียนรู้ 5 รูปแบบ คือ On-site เรียนที่โรงเรียน โดยมีมาตรการเฝ้าระวังตามประกาศของ ศบค. , On-air เรียนผ่าน DLTV, On-demand เรียนผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ,  On-line เรียนผ่านอินเทอร์เน็ต , On-hand เรียนที่บ้านด้วยเอกสาร เช่น หนังสือ แบบฝึกหัดใบงาน และในรูปแบบผสมผสาน หรืออาจใช้วิธีอื่นๆ เช่น วิทยุ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจพบว่า สถานศึกษาส่วนใหญ่จะเน้นการเรียนที่โรงเรียน หรือ On-site

“ศธ.ได้เตรียมรูปแบบที่จะจัดการเรียนการสอนไว้ 5 รูปแบบ โดยยึดหลักความปลอดภัย และกระบวนการเรียนรู้จะต้องเกิดขึ้น ส่วนจะใช้รูปแบบใดต้องดูความพร้อมของแต่ละพื้นที่ ซึ่งต้องให้ทางพื้นที่และ ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  หรือ (ศบค.)จังหวัดประเมินว่า พื้นที่นั้นๆ เหมาะสมกับการเรียนรู้รูปแบบใด นอกจากนี้ศธ.ยังได้จัดทำเว็บไซต์ ครูพร้อม เพื่อเป็นทางเลือกให้ครู ผู้ปกครองและนักเรียนมีโอกาสเข้าถึงกระบวนการเรียนรู้ที่กระทรวงจัดให้ โดยนำเนื้อหาการเรียนรู้ที่สำคัญมารวมไว้ในแหล่งเดียว ซึ่งเป็นเว็บกลางเพื่อให้ผู้มีความสนใจสามารถเข้าถึงกิจกรรมและแหล่งเรียนรู้ได้ง่ายขึ้น ซึ่งทั้ง กศน. อาชีวะ และ ภาคเอกชนมาร่วมโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ ถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการจัดกระบวนการเรียนรู้ในเรื่องทักษะชีวิต ซึ่งไม่ใช่การเรียนรู้ที่อยู่ในตำรา เป็นการนำสิ่งแวดล้อมจากสถานการณ์จริงมาใช้ โดยจะเปิดให้ใช้ได้ในวันที่ 17 พ.ค.นี้”รมว.ศธ.กล่าวและว่า ส่วนกรณีที่อาจารย์จากจุฬาฯออกมาวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการจัดติวเตอร์จากโรงเรียนกวดวิชามาอบรมครู และอยากให้เด็กได้พัก ได้เล่นอย่างเต็มที่ในช่วงเวลา 11 วันที่เลื่อนเปิดเทอมออกไปมากกว่า นั้น เรื่องนี้ถือเป็นการเข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะข้อมูลออกไปก่อนแถลงข่าว  และความเป็นจริงคือภาคเอกชนอาสาเข้ามาช่วย โดยมาตั้งแต่โควิดรอบแรกปีที่ผ่านมา ซึ่งได้มีการหารือกับเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน(กช.)เพื่อหาสิ่งที่ดีที่สุดก่อน  เป็นการติวฟรี ไม่ได้บังคับให้เรียน ไม่มีการนับหน่วยกิต และไม่มีการประเมินครูใด ๆ ทั้งสิ้น แต่เราต้องการให้เกิดการพัฒนาการเรียนรู้และเป็นทางเลือกให้ทุกคน

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments