เมื่อเร็ว ๆ นี้ ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)ได้ประชุมผ่านวีดีโอคอนเฟอร์เร้นซ์ เพื่อมอบนโยบายให้กับผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา และ ครู ในการเตรียมการเรียนการสอนก่อนเปิดภาคเรียนในวันที่ 1 มิถุนายน 2564 ว่า จากสถานการณ์ของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ปัจจุบันคาดว่าในวันที่ 17 พ.ค.นี้โรงเรียนจะไม่สามารถเปิดเรียนตามปกติได้ ดังนั้นเราจะมีวิธีการจัดการเรียนการสอนอย่างไรเพื่อให้เด็กไม่ขาดโอกาสได้รับการศึกษา โดยขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ได้เตรียมการรองรับการเรียนรู้ของนักเรียนใน 5 รูปแบบ เพื่อให้โรงเรียนแต่ละโรงเรียนได้ลองศึกษารูปแบบหรือถอดบทเรียนจากการจัดการเรียนการสอนจากปีที่ผ่านมา ว่าในรูปแบบที่ 1.ที่สพฐ.ได้ออกแบบ ไว้คือ รูปแบบ ON-SITE คือการเรียนที่โรงเรียน เพราะการจัดการเรียนรู้จากครูโดยตรงจะเกิดศักยภาพสูงสุด แต่ทั้งนี้การเรียน ON-SITE จะจัดเรียนได้เฉพาะในโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ปกติ แต่ต้องมีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อตามแนวทางของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา2019(ศบค.)กำหนด ให้ทำการเรียนการสอน ONSITE ได้ ส่วนจะจัดเต็มรูปแบบหรือสลับกันมาเรียนหรือจะออกแบบการเรียนแบบใดก็แล้วแต่ละโรงเรียน แต่ละพื้นที่ ที่จะไปออกแบบกันเอง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อการดำรงชีวิตของนักเรียนระหว่างที่เรียน ON-SITE
รูปแบบที่ 2 คือการเรียน ONLINE ซึ่งก่อนเปิดเรียนโรงเรียนจะต้องดำเนินการสำรวจจำนวนโรงเรียนที่สามารถเรียน ONLINE ก่อน ว่าโรงเรียนมีความพร้อมหรือครูมีความพร้อมในการจัดการเรียนการสอน ONLINE มีจำนวนเท่าไหร่ ทั้งนี้เพื่อให้โรงเรียนจัดเตรียมอุปกรณ์เครื่องมือการเรียน ONLINE ขณะเดียวกันก็ต้องสำรวจความพร้อมของนักเรียนด้วย เพราะเราจะจัดให้เฉพาะนักเรียนที่มีความพร้อมเท่านั้น เพื่อไม่ให้เพิ่มภาระให้กับผู้ปกครอง
รูปแบบที่ 3 ONDEMAND ซึ่งเป็นการเรียนผ่าน Application กรณีที่ครูไม่ได้จัดการเรียนการสอน ONLINEแต่ได้จัดในลักษณะแพลตฟอร์มคือวิดีโอ YouTube หรือการค้นคว้าจากแหล่งอื่นให้เข้ามาในระบบการจัดการเรียนการสอนซึ่ง สพฐ.ก็ได้เร่งจัดทำระบบที่จะจัดเตรียมสื่อสำเร็จรูปสำหรับครูและผู้ปกครองได้เข้ามา โดยสพฐ.ได้จัดบทเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาล-มัธยมศึกษาปีที่6 โดยจำแนกตามรายวิชาเพื่อให้โรงเรียนนำแพลตฟอร์มดังกล่าวไปสู่กระบวนการจัดการเรียนรู้
รูปแบบที่ 4 ONAIR ซึ่งเป็นเรียนที่บ้านผ่าน DLTV ซึ่งกรณีนี้ครูและโรงเรียนจะต้องทำการสำรวจว่านักเรียนที่อยู่ในหมู่บ้านไม่ได้มาโรงเรียนนั้นมีอุปกรณ์ที่จะรับสัญญาณถ่ายทอดออกอากาศได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้จะขอความอนุเคราะห์ภาคประชาสังคมในการเตรียมอุปกรณ์รองรับถ่ายทอดได้หรือไม่ ถ้าหากมีอุปกรณ์ครบพร้อมก็สามารถเรียนผ่านระบบ ONAIR ได้ พร้อมกันนี้ สพฐ.จะประสานช่องทางอื่นที่เราสามารถเรียนช่องทาง ONAIR ได้ โดยจะขอความอนุเคราห์ไปยังหน่วยงานต่างๆที่จะเข้ามาช่วยเพื่ออำนวยความสะดวกในกรณีที่เรียน ONAIR
และรูปแบบที่5 คือการเรียน ONHAND ซึ่งเป็นการเรียนที่บ้าน ทำแบบฝึกหัด กรณีโรงเรียนไม่สามารถเรียนทั้ง 4 รูปแบบเบื้องต้นได้ โดยสื่อที่เราจะใช้ให้กับนักเรียน ที่เรียน ONHAND จะใช้สื่อ 60 พรรษา ซึ่งจะต่อยอดเป็นสื่อ 65 พรรษา ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มาจัดการเรียนการสอน
“ผมอยากสื่อสารไปยังผู้อำนวยการเขตพื้นที่ ผู้อำนวยการโรงเรียน และครู ทุกท่านว่า กรณีที่เราไม่มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อะไรเลยในพื้นที่ ที่อยู่ในจำนวนจำกัด ผมขอให้ร่วมมือกับผู้ปกครองหรือผู้นำชุมชนท้องถิ่น สาธารณสุข ในการที่จะแสวงหาความร่วมมือจากวิทยากรภายนอก ให้มีการจัดการเรียนการสอนในเรื่องทักษะอื่น เช่น การทำอาหาร การทำความสะอาด ดูแลบ้าน หรือ การทำการเกษตร แทนในห้วงเวลาที่เราไม่สามารถมาเรียนหรือเรียนด้วยวิธีอื่นได้ เพราะทักษะเหล่านี้ก็มีความจำเป็น ซึ่งเราต้องเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส เป็นการจัดการเรียนการสอนในเรื่องของทักษะชีวิต หรือทักษะอาชีพ พื้นฐานที่จำเป็นอาจจะปรับตารางการเรียน โดยปรับบ้านเป็นโรงเรียนเปลี่ยนพ่อแม่อาสาสมัคร ปราชญ์ เป็นครูแทน ซึ่งผมคิดว่าเป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่นักเรียนจะได้เรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ “เลขาธิการ กพฐ.กล่าว